“กากรำ” ราคาดิ่ง โจทย์ใหม่ข้าวสาลีนำเข้า

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเด็นการนำเข้าข้าวสาลีทะลักส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรในประเทศ ทั้งข้าวโพด มันสำปะหลัง และบายโปรดักต์ของข้าวอย่าง “กากรำ-กากรำสด-ปลายข้าว”

แหล่งข่าวจากวงการน้ำมันรำข้าวเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคารำสกัด (หรือกากรำ) ลดต่ำลงมาก เหลือ กก.ละ 6.35 บาท ต่ำสุดในรอบ 3 ปี นับจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ราคา กก.ละ 8.70 บาท เป็นผลจากขณะนี้มีโรงงานสกัดน้ำมันรำข้าวเพิ่มมากขึ้น ในระบบน่าจะมีปริมาณ 10-20 โรงสกัด ซึ่งทำให้ซัพพลายกากรำ และกากรำสดออกสู่ตลาดมากขึ้น

แต่ผู้ซื้อหลักคือ โรงงานอาหารสัตว์ หันไปนำเข้าข้าวสาลี และกากข้าวสาลี (DDGS) มาใช้ในกระบวนการผลิตแทนวัตถุดิบในประเทศ ทำให้กากรำขายไม่ได้ ซึ่งเป็นต้นทุนของผู้ผลิตน้ำมันรำข้าว

“ปกติแล้วราคากากรำสด กับกากรำ จะมีระดับราคาไม่ต่างกันมาก แต่ตอนนี้ต่างกันประมาณ กก.ละ 2 บาท ราคาลดต่ำลงมาก ตั้งแต่มีการนำเข้าข้าวสาลีมากขึ้นในปี 2559 ที่มีปริมาณถึง 4.5 ล้านตัน ปกติทางกลุ่มโรงงานสกัดน้ำมันรำข้าวมีรายได้จาก 2 ทาง คือ การขายน้ำมันรำข้าว ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 10% และที่เหลือคือการขายกากรำ ซึ่งสัดส่วนสูงกว่า 80-90% เมื่อขายไม่ได้ก็กลายเป็นสต๊อก เพราะกากรำไม่สามารถส่งออกไปตลาดต่างประเทศได้ ดังนั้นผู้ผลิตอาจมีผลเชื่อมโยง ทำให้ต้องปรับขึ้นราคาน้ำมันรำข้าว”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมายังไม่มีการปรับ เพราะมีโรงกลั่นน้ำมันรำข้าวหน้าใหม่ ๆ เข้ามาสู่ระบบมากขึ้น ในส่วนของตลาดน้ำมันรำข้าวจึงมีการแข่งขันสูง โดยรายใหม่ได้ปรับลดราคาจำหน่ายต่ำกว่ารายเดิมในตลาดถึง กก.ละ 10 บาท เพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาด โดยภาพรวมของธุรกิจน้ำมันรำข้าวมีสัดส่วน 7% ของธุรกิจน้ำมันพืชภาพรวมซึ่งมีมูลค่า 17,000 ล้านบาท

ในส่วนของปลายข้าวซีวัน เกรดสำหรับผลิตอาหารสัตว์ ราคาลดลงเหลือ กก.ละ 7 บาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีราคา กก.ละ 10.20-10.50 บาท ซึ่งราคาที่ลดลงเป็นผลจากการนำเข้าข้าวสาลี และการระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลกลุ่ม 2 สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมที่มิใช่อาหารคน (อาหารสัตว์) ที่รัฐบาลเปิดระบายออกมาอย่างต่อเนื่องปริมาณหลายล้านตัน

“กลุ่มโรงสีและโรงสกัดน้ำมันรำข้าวดิ้นรน ร้องผ่านสมาคมไปแล้วหลายครั้ง”