ยุโรป แอฟริกาใต้ “ไม่อนุมัติวีซ่า” ทุกกรณี แรงงานแสนคนระส่ำ ทั่วโลกผวาโควิด-19

จ้างงานเอ็สเอ็มอี

พิษโควิด-19 ลามทั่วโลก ส่งออกแรงงานแสนล้านสะเทือน แรงงานไทย 5 หมื่นคนเคว้ง ประเทศนายจ้างทั้งใน “เอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป” ผวาสั่งระงับการเดินทางไม่มีกำหนด ห่วงสะเทือนแรงงานแสนราย สมาคมจัดหางานไทยฯหวั่นไวรัสลากยาวยิ่งเสียหายหนัก เรียก 80 บริษัทสมาชิกถกด่วน 12 มี.ค. ประเมินผลกระทบชง “หม่อมเต่า” หามาตรการช่วยเหลือเยียวยา เล็งเปิดตลาดใหม่ “ออสเตรเลีย-แคนาดา” ค่าตอบแทนสูงกว่าไทย 5 เท่า

นางอรัญญา สกุลโกศล นายสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 (COVID-19) ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกขณะนี้ ส่งผลกระทบธุรกิจการจัดหาแรงงานไทยไปต่างประเทศ และแรงงานไทยทั้งที่อยู่ระหว่างการทำงาน และเตรียมเดินทางไปทำงานในต่างประเทศอย่างรุนแรง ขณะเดียวกันการจัดส่งแรงงานที่ประสบปัญหาไม่ใช่เฉพาะที่จัดส่งผ่านบริษัทจัดส่งแรงงานที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น แม้แต่การจัดส่งออกงานไปต่างประเทศของกระทรวงแรงงานเองก็กระทบด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลประกาศชัดเจนให้เชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ยิ่งทำให้ไม่สามารถส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศได้ทุกประเทศทั่วโลก

แรงงานเคว้งรองาน 5 หมื่นคน

จากก่อนหน้านี้ ประเทศปลายทางที่ต้องการแรงงานไทยทยอยแจ้งขอ “ชะลอ” การจัดส่งแรงงานออกไปจนกว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายก่อน อย่างประเทศเกาหลีใต้ ที่ปัจจุบันการส่งออกแรงงานเป็นความร่วมมือแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ซึ่งมีการลงนามเบื้องต้น (MOU) จะส่งแรงงานไทยไปทำงานรวม 100 คน ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น, ไต้หวัน ที่นายจ้างทั้ง 2 ประเทศจัดหาแรงงานผ่านบริษัทจัดหางานก็ถูกชะลอออกไปด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีบางประเทศในแถบยุโรป และแอฟริกาใต้ ได้ใช้วิธี “ไม่อนุมัติวีซ่า” ในช่วงนี้ทุกกรณี จนกว่าสถานการณ์ของโรคโควิด-19 จะคลี่คลายลง และไทยสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดได้

ทั้งนี้ สมาคมจัดหาแรงงานไทยฯประเมินเบื้องต้นว่า ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้
น่าจะต้องใช้เวลาในการยับยั้งการระบาด และรักษาผู้ป่วยอย่างน้อย 2-3 เดือนต่อจากนี้ไป เท่ากับว่าจะส่งผลต่อแรงงานที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศราว 50,000 คนทันที คิดเป็นเม็ดเงินที่ควรจะเข้าประเทศแต่สูญเสียโอกาสสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท

โควิด-19 ลากยาวกระทบแสน ล.

ที่น่าห่วงคือหากปัญหาลากยาวออกไปอีก จะกระทบการส่งออกแรงงานไทยราว 1 แสนคน และจะทำให้เม็ดเงินกว่า 1 แสนล้านบาท หายไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่สถานการณ์ไวรัสโควิดยังอยู่ในขั้นวิกฤต ในส่วนของแรงงานไทยที่ยืนยันว่าต้องการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ กระทรวงแรงงานไม่มีอำนาจห้ามหรือให้ระงับการเดินทาง แต่จะใช้วิธีให้แรงงานที่ต้องการเดินทางไปทำงาน ลงนามในหนังสือ “รับทราบและยินยอม” ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

ในหนังสือดังกล่าวจะระบุว่า ผู้หางานที่ต้องการเดินทางจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการระบาดของโรคตามที่แต่ละประเทศกำหนด และหากได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ หรือถูกส่งกลับมาประเทศไทย หรือไม่สามารถทำงานได้ ต้องยินยอมรับผิดชอบความเสียหายที่จะเกิดขึ้นด้วยตัวเอง โดยจะ “ไม่มี” การร้องเรียน ฟ้องร้อง และเรียกค่าเสียหายใด ๆ กับกรมการจัดหางาน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อ่วมไวรัสโควิดซ้ำเติมปัญหา

“ในแง่ผลกระทบที่ชัดเจนยังประเมินได้ลำบาก ต้องรอดูสถานการณ์อีกสักระยะ เพราะการระบาดอย่างหนักของไวรัสโควิด เกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา อีกทั้งหลายพื้นที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง แต่ภาพใหญ่ที่เห็นอยู่ในขณะนี้จะทำให้ยอดการส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศปรับลดลงแน่นอน”

นางอรัญญากล่าวว่า เดิมการจัดหาแรงงานไทยไปต่างประเทศมีปัญหาอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขหลายเรื่อง เมื่อต้องมาเจอปัญหาโรคระบาดซ้ำ การส่งออกแรงงานไทยของปีนี้น่าจะน้อยกว่าเป้าที่ตั้งไว้ ต้องปรับเป้าหมายใหม่แน่นอน ในส่วนของบริษัทจัดหางานที่ทำได้ในขณะนี้ คือ ฐานแรงงานไทยที่เป็นลูกค้าจะมีการสื่อสารผ่านไลน์กรุ๊ปถึงกันตลอด พร้อมทั้งแนะนำวิธีลดความเสี่ยงการติดโรค ด้วยการกินร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ

เอกชนประชุมประเมินผลกระทบ

ทั้งนี้ วันที่ 12 มี.ค. 2563 นี้ จะมีการประชุมใหญ่สมาคมจัดหาแรงงานไทยไปต่างประเทศ ที่มีสมาชิกกว่า 80 บริษัท เพื่อสรุปผลกระทบของสมาชิกจากกรณีการระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากที่ประเมินความเสียหายเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะนำข้อมูลดังกล่าวเข้าหารือ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ภาครัฐจะออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบ เพราะจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจทำให้บริษัทจัดหางานรายเล็กถึงขั้นต้อง “ปิดกิจการ”

นอกจากนี้ ได้เตรียมหารือประเด็นอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย โดยเฉพาะการเปิด “ตลาดใหม่” ที่มีศักยภาพ และเคยส่งแรงงานไทยไปทำงานมาก่อน แต่ไม่มีความต่อเนื่อง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้สำรวจความต้องการของแรงงานพบว่า มีหลายประเทศที่แรงงานไทยสนใจจะไปทำงาน เช่น ออสเตรเลีย และแคนาคา เพราะได้ค่าตอบแทนรายชั่วโมงทำงานตั้งแต่ 8-13 เหรียญสหรัฐ/ชั่วโมง หรือเฉลี่ยที่ 50,000-80,000 บาท/เดือน (ตามประเภทงาน) ซึ่งถือว่าค่าตอบแทนค่อนข้างสูงกว่าการทำงานในประเทศ 3-5 เท่า และส่วนใหญ่เป็นแรงงานภาคเกษตร กับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมตามโรงงานผลิตสินค้าต่าง ๆ 

เปิดสถิติส่งออกแรงงานไทย

แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า แต่ละปีมีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศประมาณ 5-6 หมื่นคน กระจายอยู่เกือบทุกภูมิภาคทั่วโลก ทำเงินเข้าประเทศปีละกว่า 1 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีทั้งจัดส่งแรงงานไปโดยบริษัทจัดส่งแรงงาน การส่งออกโดยกรมการจัดหางาน โดยปี 2561 ข้อมูลของกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางานระบุว่า มีจำนวนคนหางานที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ ทั้งการเดินทางด้วยตัวเอง การไปทำงานโดยผ่านการจัดส่งจากกระทรวงแรงงาน และ
บริษัทจัดส่งแรงงาน รวมทั้งสิ้น 61,835 คน รวมรายได้ที่ส่งกลับประเทศ 140,806 ล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง 6,862 คน, กลุ่มประเทศแอฟริกา 1,742 คน, กลุ่มประเทศเอเชีย 40,910 คน, กลุ่มประเทศยุโรป 10,574 คน, กลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ 1,034 คน, กลุ่มประเทศอเมริกาใต้ 18 คน และกลุ่มประเทศออสเตรเลียและโอเชียเนีย 695 คน

ปี 2562 มีการส่งออกแรงงานรวม 58,826 คน รวมรายได้ที่ส่งกลับประเทศ 128,075 ล้านบาท แยกเป็น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง 7,095 คน, กลุ่มประเทศแอฟริกา 585 คน, กลุ่มประเทศเอเชีย 37,234 คน, กลุ่มประเทศยุโรป 12,308 คน, กลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ 882 คน, กลุ่มประเทศอเมริกาใต้ 22 คน และกลุ่ม
ประเทศออสเตรเลียและโอเชียเนีย 700 คน รวมการจัดส่งแรงงานทั้งสิ้น 58,826 คน

“ไต้หวัน-ญี่ปุ่น-เกาหลี” ฮอตสุด

สำหรับปี 2563 เดือน ม.ค. มีแรงงานไทยที่ได้รับการอนุญาตให้ไปทำงานในต่างประเทศรวม 3,121 คน  แบ่งเป็นกลุ่มประเทศในเอเชียรวม 2,515 คน โดย 3 อันดับแรก คือ ไต้หวัน 1,279 คน ญี่ปุ่น 618 คน เกาหลีใต้ 203 คน ตามด้วยกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง 233 คน กลุ่มประเทศยุโรป 197 คน กลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ 72 คน และกลุ่มประเทศออสเตรเลียและโอเชียเนีย 31 คน ประเภทงานที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรก คือ 1) อาชีพงานพื้นฐาน 1,095 คน 2) ผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักรและผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบ 840 คน และ 3) ผู้ปฏิบัติงานฝีมือด้านการเกษตรและประมง 280 คน