น้ำมันดิ่งทุบธุรกิจโรงกลั่น บางจาก-ปตท.สต๊อกอ่วม

แฟ้มภาพ

วิกฤตสงครามน้ำมันทุบราคาดิ่ง 30 เหรียญ/บาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 29 ปี กระทบหนักต่อธุรกิจสำรวจขุดเจาะ-โรงกลั่นน้ำมัน ด้าน “ปตท-บางจาก” อ่วมขาดทุนสต๊อก รายได้การกลั่นวูบ 20 เหรียญ ด้านธุรกิจรีเทลได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันขายปลีกที่ถูกลง

รายงานข่าวจากวงการผู้ค้าน้ำมัน กล่าวถึงราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงเหลือประมาณ 30 เหรียญ/บาร์เรลจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย 2 ด้านคือ 1) การนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศจะมีต้นทุนลดลง ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกลดลง ส่งผลช่วยให้ภาพรวมการใช้น้ำมันมีโอกาสคึกคักขึ้นในช่วงนี้ ผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน (รีเทล) จะได้รับประโยชน์

2) ผู้ประกอบการในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันจะได้รับผลกระทบจากการขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันที่เก็บไว้ (stock loss) แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่ละรายไม่เท่ากับขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำมันที่สต๊อกเอาไว้ และการลงทุนในธุรกิจอื่น นอกเหนือจากธุรกิจการกลั่นน้ำมัน

ยกตัวอย่าง บางจาก หรือ ปตท.สผ. ที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจสำรวจขุดเจาะและโรงกลั่นภายนอกประเทศ ขณะนั้นต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 50-60 เหรียญ/บาร์เรล แต่ผลิตออกมาเป็นน้ำมันดิบราคาตกลงมาเหลือแค่ 30 เหรียญ/บาร์เรล เท่ากับมีส่วนต่างระหว่างต้นทุนกับราคาขายประมาณ 20 เหรียญ/บาร์เรล แต่หากทั้ง 2 บริษัทมีการลงทุนในธุรกิจอื่น อาทิ โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันดีเซล-ก๊าซธรรมชาติ ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงก็จะถูกลง สามารถลดความเสียหายจากกรณี stock loss ลงไปได้

“กรณีของ ปตท.ที่มีทั้งธุรกิจขุดเจาะต้นน้ำ โรงกลั่น และปิโตรเคมี ในส่วนของปิโตรเคมีต้นทุนผลิตเม็ดพลาสติกจะลดลง แต่ธุรกิจสำรวจขุดเจาะของ ปตท.สผ.จะแย่หน่อย กำไรที่จะกลับมาที่บริษัทแม่คือ ปตท.ก็จะลดลง จนมีการคาดการณ์ว่า ในไตรมาส 1 ปีนี้ ปตท.จะแย่ เช่น กำลังผลิต 500,000 บาร์เรลวันนั้นเคยลงไว้ที่ 50-60 เหรียญ ตอนนี้เหลือแค่ 30 เหรียญ จะต้องลงบุ๊ก asset ใหม่ กำไรอาจจะยังมี แต่จาก 5-6 บาทก็อาจจะเหลือ 3-4 บาท แต่หากไตรมาสต่อไปยังเป็นอย่างนี้ก็จะไม่มีกำไร” แหล่งข่าวกล่าว

Q1 ปตท.ขาดทุน Stock Loss

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลงแรงในขณะนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน

“ผมมั่นใจว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว ราคาน้ำมันดิบน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำเพียงช่วงระหว่างไตรมาส 1/2563 ไม่เกินไตรมาส 2/2563 ราคาน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งปีนี้ทั้งปี ปตท.ยังคงคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่เหมาะสมเฉลี่ยอยู่ในกรอบ 50-70 เหรียญ/บาร์เรล” นายชาญศิลป์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โลกกำลังเผชิญกับปัจจัยลบหลายด้าน โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันของโลกลดลง ส่งผลให้กองทุนเก็งกำไร เห็นความเสี่ยงของโลกที่จะเกิดวิกฤต โดยเหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นในปี 2558

ปตท.มั่นใจว่า ปีนี้จะมีกำไรไม่ต่ำกว่าปี 2558 ที่มีกำไรสุทธิประมาณ 20,000 ล้านบาท (ปี 2558 ราคาน้ำมันดิบร่วงลงจาก 100 เหรียญเหลือประมาณ 20 เหรียญ/บาร์เรล)

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ของ ปตท.ในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีจะประสบปัญหาขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันและยอดขายน้ำมันเครื่องบิน (jet) ที่ลดลง ส่งผลให้ธุรกิจโรงกลั่นต้องบริหารจัดการสต๊อกน้ำมันและลดการจัดเก็บสต๊อกเพื่อบริหารต้นทุนให้เหมาะสมกับดีมานด์และซัพพลาย รวมไปถึงการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หันไปลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่มีความผันผวนในเรื่องน้ำมันควบคู่กันไปด้วย

นายพงศธร ฉัตรนะรัชต์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีการนำเข้าน้ำมันมาสต๊อกไว้ในปริมาณที่ไม่มากนัก และมีการเตรียมพร้อมล่วงหน้า คาดว่าจะได้รับผลกระทบวันไทม์จาก stock loss เพียง 1-7 วันเท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่งเมื่อ “ต้นทุน” การนำเข้าน้ำมันดิบต่ำลงก็จะทำให้ต้นทุนผู้ค้าปลีกลดลงด้วย ซึ่งส่งผลดีกับภาพรวม

ธุรกิจขุดเจาะกระทบหนัก

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงแรงจะเป็นผลในระยะสั้น และจะกระทบโดยตรงต่อหุ้นในกลุ่มพลังงานทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานต้นน้ำ เช่น บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) จะส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการทำกำไร

ส่วนกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นจะได้รับแรงกดดันในระยะสั้นจากที่ต้องบันทึกขาดทุนจาก stock loss ในงบการเงินงวดไตรมาส 1/63 ซึ่งจะกดดันกำไรไตรมาสแรก แต่เชื่อว่าหลังจากผ่านช่วงไตรมาส 1/63 กลุ่มโรงกลั่นจะเริ่มได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากต้นทุนน้ำมันดิบที่ถูกลง ซึ่งจะช่วยให้มีกระแสเงินสดกลับเข้ามาในธุรกิจเพิ่มขึ้น

ขณะที่กลุ่มปิโตรเคมี ได้แก่ ปิโตรเคมีที่ใช้วัตถุดิบแนฟทานั้น ราคาแปรผันวัตถุดิบจะแปรผันตามราคาน้ำมันดิบ เช่น ธุรกิจของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCCC) และ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และปิโตรเคมีที่ใช้วัตถุดิบจากก๊าซธรรมชาติ เช่น บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ในระยะสั้นจะได้รับแรงกดดันขาดทุนสต๊อกน้ำมันเช่นเดียวกับกลุ่มโรงกลั่น แต่ในระยะยาวจะได้อานิสงส์จากต้นทุนที่ลดลง