“คณิศ” ไม่ทิ้งศูนย์ซ่อมอากาศยาน MRO อู่ตะเภา แม้แอร์บัสโบกมือลา

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวภายหลังการประชุม คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 2/2563 ซึ่งมี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้ พิจารณา โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก  โดยมีมติให้เร่งนำเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเร็วที่สุด

ซึ่งหลังจากนี้ จะมีส่วนที่เอกชนที่ได้รับคัดเลือก คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) เมื่อเริ่มดำเนินการทำสัญญาร่วมลงทุนแล้วนั้น ในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา ส่วนอื่นจะยังมี 6 กิจกรรมสำคัญคือ 1. อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3

2.ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน 3.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) 4.เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 5.ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ 6.ศูนย์ฝึกอบรมการบิน

ในส่วน ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) นั้น ก่อนนี้มีความร่วมมือระหว่าง การบินไทย และแอร์บัส นั้นซึ่งทางแอร์บัสได้ชี้แจงว่า ด้วยสถานการณ์โควิด-19 จึงขอร่วมมือในโครงการนี้เพียงเทคโนโลยีและ Knowhow เท่านั้น อย่างไรก็ตาม สกพอ. จะไม่ถอยโครงการ MRO เพราะจำเป็นต้องมี เมื่อเครื่องบินเกิดเสียหายจำเป็นต้องมีการซ่อมที่นี่

ดังนั้นโครงการ MRO จะยังอยู่แม้จะล่าช้าออกไปตามกำหนด และยืนยันว่า การบินไทยยังจะทำ MRO ต่อไป โดยการหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ ขณะที่แอร์บัสจะร่วมมือด้านเทคโนโลยี และในอนาคตแอร์บัสอาจตัดสินใจใหม่อีกครั้งหลังจบโควิด

ทั้งนี้ โครงการ มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนา “เมืองการบินภาคตะวันออก” ในพื้นที่ 6,500 ไร่ เงินลงทุนรวมประมาณ 290,000 ล้านบาท (จากการศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ) รัฐได้ประโยชน์เพิ่มเติม คือ ได้ภาษีอากรเพิ่มมากกว่า 60,000 ล้านบาท (ไม่นับรวมรายได้ภาษีทางอ้อมกับธุรกิจเชื่อมโยงนอกเมืองการบินภาคตะวันออก) เกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,640 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก

ซึ่งจะเป็น “สนามบินกรุงเทพฯ แห่งที่ 3” เชื่อมสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง เป็นศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมายโดยเฉพาะการเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” ของ EEC 

เป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมือง ประมาณ 30 ก.ม. โดยรอบสนามบิน (เมืองพัทยา ถึง ตัวเมืองระยอง) ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของการพัฒนา Eastern Seaboard ที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย

โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้ง ทางน้ำ (เรือและท่าเรือ) ทางบก (ทางด่วน รถไฟ และ รถไฟความเร็วสูง) และทางอากาศ (สนามบิน)

ซึ่งที่ผ่านมา การดำเนินงานล่าสุด ได้คัดเลือกเอกชนร่วมทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก โดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งมี ผบ.ทร.เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบและดำเนินการเจรจาสัญญาเสร็จสิ้น รวมเวลาทำงานประมาณ 1 ปี 6 เดือน โดยได้มีการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกทั้งหมด 17 ครั้ง และการประชุมคณะทำงานเจรจาสัญญาทั้งหมด 19 ครั้ง 

โดยเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563  ได้พิจารณาซองที่ 3 ด้านผลตอบแทน ผลการพิจารณา กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) (กลุ่มบีบีเอส)

ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (Lead Firm) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเสนอ Narita International Airport Corporation เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน เป็นผู้ชนะการคัดเลือกให้ร่วมทุนเพราะเสนอเงินประกันรายได้ขั้นต่ำตลอดสัญญาสูงสุด

และในวันที่ 13 เมษายน 2563  ได้พิจารณาซองที่ 4: ข้อเสนออื่นๆ ไม่ผูกมัดในสัญญา ผลการพิจารณา รับทราบข้อเสนอของเอกชนและไม่นำมาเป็นส่วนหนึ่งของร่างสัญญา