“มนัญญา” ยืนกรานแบน 3 สารเคมี โต้กลินท์ เป็นแค่ความเห็นส่วนตัว

มนัญญา เรียกหน่วยงานเกี่ยวข้องสรุปแนวทาง ก่อนประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย 30 เม.ย. ยืนยันมติแบน พาราควอต ไกลโฟเซต 1 มิ.ย.นี้ ลั่นไม่มีข้ออ้างอื่นให้ยืดออกไป ปัดข้อเสนอกลินท์เป็นความเห็นส่วนตัว พร้อมดันกฎหมายคุมคุณภาพสารเคมีเป็นวาระเพื่อพิจารณาด่วน

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานข้อง ว่า ยังยืนยันต้องการแบนใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด คือพาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส แต่มีความกังวลตามวาระที่จะพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ในวันที่ 30 เม.ย.นี้ อาจจะมีการยืดการแบนสารทั้ง 3 ชนิดออกไปอีก จากมติเดิมเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2562 ที่ให้แบนพาราควอต และ ไกลโฟเซต ในวันที่ 1มิ.ย. 63 ส่วนคลอร์ไพรีฟอส นั้นให้ควบคุมการใช้ โดยกำหนดให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำมาตรการรองรับหรือหาสารทดแทน หรือวิธการอื่นเหมาะสม ภายใน 4 เดือน

อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรได้ทำการศึกษาเรื่องดังกล่าวแล้วแต่ไม่ได้ส่งกลับให้กระทรวงอุตสาหกรรม ด้วยความเป็นห่วงเรื่องนี้ จึงได้สอบถามไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นการส่วนตัว ว่าให้ดำเนินการอย่างไร ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงมีทำหนังสือทวงเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ตอบกลับไปแล้วเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ดังนั้นคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะใช้เรื่องดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างเพื่อยืดการแบบนออกไปอีกไม่ได้

สำหรับ ประเด็นที่นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ทำหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ยืดการแบน 3 สารออกไปจนถึงสิ้นปี 63 โดยอ้างว่าจะกระทบต่อการนำเข้าวัตถุดิบภาคอุตสาหกรรม นั้น ตามที่เห็นข้อความในหนังสือ พบว่าเป็นความเห็นของนายกลินท์ แต่เพียงผู้เดียว โดยแทนตัวว่าผม ไม่ใช้ทั้งสภาหอฯ อีกทั้งก่อนหน้านายกลินท์ สนับสนุนการแบนสารทั้ง3 ชนิดมาโดยตลอด ในช่วงเวลา 4 เดือนที่ผ่านมาก็ไม่แสดงให้ชัดเจนว่าภาคอุตสาหกรรมที่กล่าวอ้างจะได้รับผลกระทบ จนกระทั่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะประชุมกันอยู่ ก็มีหนังสือขอให้ยืดการแบนออกไปก่อน คิดว่ามีเหตุผลอื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้หรือไม่ อย่างไร

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในที่ประชุมว่าที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรศึกษาแนวทางและมาตรการที่จะนำมาทดแทนกรณีไม่ใช้สารทั้ง 3 ชนิดแล้ว แต่ที่ไม่ได้ส่งกลับไปให้กระทรวงอุตสาหกรรม เพราะตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายกำหนดให้รายงานต่อคณะกรรมการเท่านั้น ไม่ได้ให้ส่งคืนหรือรายงานต่อกระทรวงอุตสาหกรรม แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เมื่อกรมโรงงานทำหนังสือมาเพื่อขอรับทราบผลการศึกษาฯ กรมวิชาการเกษตรก็ได้ตอบกลับไปแล้ว

ด้าน นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร (สคว.) กล่าวว่าการเสนอร่างประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมเป็นผู้รับผิดชอบ (ฉบับที่ …) พ.ศ.เป็นวาระเพื่อทราบนั้น เป็นไปตามขั้นตอนของคณะกรรมการวัตถุอันตราที่กฎหมายทุกอย่างจะเป็นวาระเพื่อทราบก่อนแล้วส่งต่อให้คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายพิจารณาเพื่อเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นวาระพิจารณาอีกครั้ง

สำหรับหนังสือจากกรมโรรงงานอุตสาหกรรม แจ้งว่า ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1-1/2562 เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2562 มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและสหกรณ์จัดทำมาตรการรองรับในการหาสารทดแทนหรือวิธีการอื่นที่เหมาสมสำหรับวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอไพริฟอส รวมถึงมาตรการในการลดผลกระทบที่จะเกิดกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลต่อสุขภาพของประชาชน และให้นำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาภายในระยะเวลา 4 เดือนนับจากวันที่มีมติ

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด ประกอบกับประธานกรรมการวัตถุอันตรายกำหนดให้มีการประชุมครั้งที่ 2-1/2563 ในวันที่ 30 เมษายน 2563 ฝ่ายเลขานุการใคร่ขอให้รมวิชาการเกษตรจัดส่งผลการดำเนินการตามมติดังกล่าวไปที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ภายในวันที่ 27 เมษายน 2563 เพื่อฝ่ายเลขานุการจะเร่งดำเนินการจัดส่งข้อมูลให้กรรมการพิจารณาในที่ประชุมเพื่อประกอบการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย วันที่ 30 เม .ย. 2563 ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำเอกสารประกอบการชี้แจงคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะได้ดำเนินการต่อไป