เอกชนอ่วมเจอปัญหาขาดสภาพคล่องหนัก หวั่น NPL พุ่งไตรมาส 4 ด้าน ส.อ.ท.เตือน SMEs เดือดร้อนหนัก เข้าไม่ถึงซอฟต์โลน 500,000 ล้าน กู้ได้จริงแค่ 1 แสนล้าน วอนรัฐปรับเกณฑ์ “หลักประกัน”เพิ่มวงเงินค้ำให้ บสย. ขยายเวลาเข้าร่วมค้ำประกันต่อจาก ธปท. อีก 3-5 ปี พร้อมยืดพักชำระหนี้-ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย 1.5% ต่ออีก 6 เดือน หรือถึงปี”64
นายปรีชา ส่งวัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานคณะอนุกรรมการการเงินและภาษี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาคเอกชนกำลังประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่องอย่างหนัก แม้ว่ารัฐบาลจะคลายมาตรการล็อกดาวน์ไปแล้วก็ตาม แต่ภาคธุรกิจยังไม่สามารถจะทำรายได้กลับมา 100% เทียบเท่าก่อนที่จะล็อกดาวน์ได้ ประกอบกับต้องรับภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นหลังจากเปิดดำเนินกิจการ ขณะที่มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและด้านภาษีที่รัฐบาลมอบให้ ทั้งในเรื่องการพักชำระหนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ยกับการลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 1.5% ก็กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายนนี้ การเข้าถึงเงินซอฟต์โลนก็ยังทำได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้เกิดความกังวลปัญหาหนี้เสีย (NPL) ในระบบเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นนับจากเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป
“คณะกรรมการของ ส.อ.ท.มีเป้าหมายว่าจะต้องกำหนดแนวทางช่วยเหลือเรื่องการเงินและภาษีให้สอดคล้องกับแผนรัฐบาลว่า ทำอย่างไรให้คนไม่ตกงานหรือตกงานน้อยที่สุด นั่นก็คือธุรกิจต้องไม่เจ๊ง โดยสิ่งที่จะช่วยได้ก็คือ สภาพคล่อง เนื่องจากช่วงโควิด ผู้ประกอบการไม่มีรายได้เข้ามา แต่ก็ยอมรับว่ารัฐบาลออกมาตรการรับมือวิกฤตครั้งนี้ได้ดีกว่าปี 2540 มาก ทั้งเรื่องการพักหนี้ก็ทำได้เร็ว แต่มาตรการดังกล่าวกำลังจะสิ้นสุดในเดือนกันยายนนี้แล้ว ส่วนมาตรการซอฟต์โลนถือว่าดี เพียงแต่ยังไม่ค่อยฟังก์ชั่น เห็นได้จากวงเงินซอฟต์โลน 500,000 ล้านบาท ซึ่งให้ดอกเบี้ยต่ำมาก (2%) ถือว่าดี แต่จนถึง ณ วันที่ 17 ก.ค. 2563 กลับปล่อยกู้ไปได้เพียง 63,342 ราย คิดเป็นวงเงิน 103,750 ล้านบาท หรือเฉลี่ยได้รายละ 1.6 ล้านบาทเท่านั้น ยังเหลือวงเงินอีก 400,000 ล้านบาทที่ปล่อยไม่ได้ และนี่คือประเด็นสำคัญที่อยากให้รัฐบาลทำต่อไป ต้องทำให้ซอฟต์โลนฟังก์ชั่นมากขึ้น” นายปรีชากล่าว
ขยายวงเงิน PGS 8 Plus
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ส.อ.ท.ได้หยิบยกประเด็นเรื่อง “ซอฟต์โลน” เข้าไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งทางสมาคมธนาคารแจ้งว่า ไม่ได้ติดปัญหาธนาคารจะมีรายได้ลดลงจากการปล่อยสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยต่ำเพียง 2% แต่ทางธนาคารติดในประเด็นเรื่องของ “หลักประกัน” เท่านั้น กล่าวคือปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้หลักประกันไว้แค่เพียง 2 ปีเท่านั้น ซึ่งระยะเวลาดังกล่าว ธปท.จะเป็นผู้รับความเสี่ยงไว้ให้
แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน คาดว่าการชำระเงินกู้นั้นยากที่จะได้คืนตามกำหนด 2 ปี ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นพ้องกันว่า ควรให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันต่อไปอีก 3 หรือ 5 ปี เป็น 5-7 ปี ซึ่งจะทำให้เอกชนสามารถฟื้นตัวสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ ซึ่งประเด็นนี้ทางสถาบันการเงิน “ก็เห็นด้วย” ส่วน บสย.ก็เคยมี โครงการค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอี (PGS 8) วงเงิน 200,000 ล้านบาทอยู่แล้ว แต่วงเงิน บสย.กำลังจะหมดและได้เสนอขอขยายวงเงินใน PGS 8 Plus เพิ่มอีก 50,000-100,000 ล้านบาท
“ปัญหาตอนนี้ก็คือ วงเงินค้ำประกัน บสย.จะหมดลง จึงต้องมีงบประมาณก้อนหนึ่งมาช่วย บสย. ให้มีโครงการ PGS วงเงินค้ำประกัน 200,000 ล้านบาทต่อไปอีก อย่างน้อยไปเอาจากโครงการ PGS 8 Plus มาอีกสัก 50,000 หรือ 100,000 ล้านบาท เพิ่มมาอีกก็ยังดี เพราะถ้ามีวงเงินค้ำประกัน 10,000 ล้านบาท จะสามารถค้ำประกันได้อีกหลายราย เพราะการค้ำประกันไม่ได้ค้ำทั้งวงเงิน เป็นการค้ำประกันเป็นสัดส่วนตามสูตรของ บสย. ส่วนงบประมาณที่จะใช้ขยายวงเงินค้ำประกันนั้นก็ไม่ได้ใช้ทันที เป็นเพียงเงินค้ำประกันที่ออกมาเป็นลอต ถ้ารัฐบาลตกลงกับ PGS 8 ออกมาได้ในปีงบประมาณ 2567 ช่วยให้ซอฟต์โลนฟังก์ชั่นได้ อันนี้สำคัญมาก เรากำลังจะผลักดันต่อ เบื้องต้นท่านนายกฯรับปาก แต่เมื่อกระทรวงการคลังเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีใหม่ ก็ต้องดูว่าจะทำต่ออย่างไร หากเป็นชื่อ นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ตามที่ปรากฏเป็นข่าว ผมก็ว่าดี เพราะอยู่ใน กกร.อยู่แล้ว รู้ปัญหาดีทั้ง 2 ฝั่ง คือ ฝั่งแบงก์และผู้ประกอบการ” นายปรีชากล่าว
ปัญหาหนี้เสียตามมาติด ๆ
ถ้าถามผมว่า ตอนนี้มาตรการซอฟต์โลนสำคัญขนาดไหน คือ ตอนนี้ปัญหาของ SMEs ผู้ประกอบการ ถ้าสภาพคล่องไม่ดีก็คือ “เกิดหนี้เสีย” แบงก์ก็ต้องตั้งสำรองกระทบกันทั้งระบบ แต่ถ้ามีเงินซอฟต์โลนเข้ามาจุนเจือแล้วเกิดหนี้เสียลดลง ก็จะสัมพันธ์กับข้อเรียกร้อง
ข้อที่ 2 ที่ขอให้ภาครัฐช่วยเลื่อนการชำระเงินกู้ทั้งต้นและดอกเบี้ยที่แบงก์ชาติอีก 6 เดือน ซึ่งถ้าถึงกำหนดแล้ว แบงก์ชาติไม่ขยายเวลาพักชำระหนี้ให้ บวกกับไม่ปล่อยซอฟต์โลน SMEs จะมีปัญหาทันที คาดว่ายอดหนี้เสีย (NPL) ก็จะเพิ่มขึ้นลามไปยังธนาคารก็มีปัญหาเพราะต้องตั้งสำรองมากขึ้น ส.อ.ท.จึงต้องย้ำถึงเหตุที่ต้องขอเลื่อน เพราะว่า “ถึงเปิดกิจการได้แล้ว แต่มันไม่ได้เปิดแบบเดิม” เปิดได้เฉพาะภายในประเทศ แต่รายได้ของไทย 70 ถึง 80% มาจาก 2 เรื่อง คือ การส่งออกกับการท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างประเทศเหลือ 0 เหลือแต่ท่องเที่ยวภายใน และก็จะเที่ยวเพียงแค่วันศุกร์และเสาร์ (วีกแอนด์) ส่วนวีกเดย์โรงแรมก็ขาดทุน และไม่รู้ว่าจะกลับมาเต็มที่ได้เมื่อไร และยิ่งมีกรณีเคสการติดเชื้อโควิด-19 ที่ระยองขึ้นมาก็ยิ่งซ้ำการท่องเที่ยวเข้าไปอีก
ส่วนมาตรการทางภาษี หัก ณ ที่จ่าย ที่เสนอกรมสรรพากร ขอให้ขยายไปถึงสิ้นปี 2563 หรือปี 2564 ก็เพราะเงินจำนวนนี้เป็นเงินจากกำไรของผู้ประกอบการที่หักไปล่วงหน้า ซึ่งการขยายเวลานี้ รัฐไม่ได้เสียประโยชน์แต่อย่างใด เพราะในปีนี้เอกชนไม่มีกำไรอยู่แล้วจากโควิด “ผู้ประกอบการก็ขาดทุน” การหักภาษีนี้เท่ากับว่า “ผมเสียภาษีไปล่วงหน้าแล้ว” เพื่อจะได้ต่อเนื่องกับการใช้แพลตฟอร์มใหม่ของกรมสรรพากร ที่คาดว่าจะออกมาช่วงปลายปี โดยแพลตฟอร์มนั้นจะลดภาษี หัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 2% แต่การขยายเวลาก็เพื่อให้เวลากรมได้พัฒนาแพลตฟอร์มก่อน
เอกชนยังยืนขาสั่น
อย่างไรก็ตาม หากมาตรการที่ ส.อ.ท.เสนอไปแล้ว “ไม่ได้รับการพิจารณา” แน่นอนว่า NPL ก็จะขยับขึ้น ที่ตอนนี้ยังไม่ขึ้นแยะก็เพราะได้รับการพักการชำระหนี้ ตามข้อกำหนดของแบงก์ชาติ ธุรกิจแบงก์ก็ยังไม่ได้เสียหาย มีหน้าที่ปล่อยกู้ คนกู้ก็กู้ไป คนชำระก็ชำระคืน แบงก์ไม่ต้องไปหาลูกค้าใหม่เพิ่ม เพราะมาตรการพักชำระหนี้ของแบงก์ชาติกำหนดไว้ว่า “ไม่ต้องจัดชั้นแบงก์พาณิชย์ก็ยิ้ม” ยกตัวอย่าง 1 เดือนลูกหนี้พักชำระหนี้ 6.5 ล้านล้านบาท ทั้งระบบถ้าคืน 10% เท่ากับว่าเขาจะไปหาลูกค้าใหม่ 10% แต่นี่ลูกค้าเองก็มีหลักประกัน แบงก์ก็ไม่มีค่าใช้จ่ายโดยการหาสินเชื่อเพิ่มเขาก็อยู่เท่าเดิม เช่นว่า เขากำไรเดือน 1,000 ล้านบาท เขาก็จะอยู่แบบนี้ไปได้ ดังนั้นถ้าแบงก์มีหนี้ NPL เพิ่มขึ้น มันก็จะกระทบต่อสภาพคล่องของแบงก์เอง เพราะการตั้งสำรองจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ
“ทุกคนทราบถึงปัญหา แต่เหตุที่เรื่องนี้ที่ยังไม่คลิก ส่วนหนึ่งอาจเพราะว่าอยู่ระหว่างการเลือกผู้ว่าการแบงก์ชาติคนใหม่ก็ได้ ส.อ.ท.ก็ต้องส่งเสียงไป เพื่อให้เขาอนุมัติ เพราะเขาก็รู้ มันเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย เช่นเดียวกันกับที่ท่านนายกฯเรียกเอกชนพูดคุยก่อนหน้านี้ ก็มีการพูดประเด็นนี้และอีกหลาย ๆ เรื่อง แต่นี่คือ 2 เรื่องที่ ส.อ.ท.อยากจะผลักดัน ต้องให้ผ่าน ไม่อย่างนั้นเดือนกันยายน-ตุลาคม SMEs จะเดือดร้อนมาก แน่นอนว่าจะมีการปิดกิจการ หนี้เสียพุ่ง ส่วนจะมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ GDP ปี 2563 หรือไม่นั้น ผมไม่สามารถประเมินได้ ทางสภาพัฒน์น่าจะมีการประเมินไว้แล้ว เพราะมาตรการเยียวยาที่เข้าไปช่วยภาคเอกชนได้เพียงแค่ 12% เท่านั้น ตอนนี้ทุกคนยืนขาสั่น และอย่างกรณีซอฟต์โลนก็ได้แค่ 10% ยังเหลืออยู่อีกตั้ง 88%” นายปรีชากล่าว