ส่งออก มิ.ย. ติดลบ 23.17% สูงสุดรอบ 131 เดือน ผลจากโควิดกระทบประเทศผู้นำเข้าหลัก

การส่งออกเดือนมิถุยายน 2563 ไทยติดลบ 23.17% ลดลงมากสุดในรอบ 131 เดือน เหตุได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 คาดทั้งปีมีโอกาสติดลบ 8% ถึงลบ 9%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน 2563 มีมูลค่า 16,444.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 23.17% ถือเป็นการขยายตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 131 เดือนนับจากกรกฎาคม 2552 ขณะที่ การนำเข้ามีมูลค่า 14,833.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 18.05% ส่งผลให้ไทยมีการค้าเกินดุลการค้า มูลค่า 1,610.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการส่งออก 6 เดือนแรกปี 2563 (มกราคม.-มิถุนายน) การส่งออกมีมูลค่า 114,343 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.09% การนำเข้ามีมูลค่า 103,642 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.62% ทำให้ไทยมีการค้าเกินดุลการค้ามูลค่า 10,701 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกลดลง ยังคงเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กดดันการค้าโลก และกระทบต่อการส่งออกของหลายประเทศ รวมทั้งไทย และยังมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดรอบ 2 อาจทำให้เกิดการล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งจะกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และจีนกับอินเดีย ที่ส่งผลต่อนโยบายการค้าและเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันยังทรงตัวต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันยังคงส่งออกลดลง และค่าเงินบาทแข็งค่า ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย

ส่วนสินค้าส่งออกยังคงหดตัว โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่ลดลง เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ จากความต้องการที่หดตัว เพราะผู้บริโภคมุ่งเน้นการบริโภคสินค้าที่จำเป็นมากกว่า เม็ดพลาสติก ที่ลดลงตามราคาน้ำมัน แต่อิเล็กทรอนิกส์ มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนสินค้าในกลุ่มอาหาร เป็นสินค้าที่ขยายตัวได้ดีจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น เช่น อาหารทะเล ไก่สด สิ่งปรุงรสอาหาร เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง ผักและผลไม้ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านก็เพิ่มขึ้น เช่น คอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์ เตาอบ ไมโครเวฟ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า รวมถึงสินค้าที่ป้องกันเชื้อโรค เช่น เครื่องมือแพทย์ ถุงมือยาง ที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี น่าจะปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่หลายประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้การใช้จ่ายฟื้นตัว ทั้งนี้ สำหรับการส่งออกทั้งปีของไทย หากส่งออกจากนี้เฉลี่ยเดือนละ 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกจะติดลบ 8% แต่ถ้าส่งออกได้มากกว่านี้เดือนละ 21,988 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกมีโอกาสเป็นบวก