พาณิชย์ปั๊มยอดส่งออกไตรมาส 4 หวังพยุงทั้งปี 2563 ติดลบไม่ถึง 2 หลัก

การขนส่งทางเรือ
ภาพ : Pixabay

พาณิชย์เร่งปั๊มยอดส่งออกไตรมาส 4 หวังว่าทั้งปี 2563 ติดลบแค่ 7% พร้อมวางยุทธศาสตร์ขึ้นแท่นติด TOP 5 ประเทศส่งออกเอเชีย แซงเวียดนาม ไต้หวัน อินเดีย ในปี 2570

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการหารือกับภาคเอกชนและผู้ส่งออก บางส่วนเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้นแล้ว และเชื่อว่าการส่งออกในไตรมาส 4/2563 จะติดลบ 5-6% น้อยกว่า 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งจะทำให้ทั้งปีมีโอกาสติดลบ 7-9% ทั้งนี้ การส่งออก 7 เดือนแรก (ม.ค.-ด.ค.) 2563 ส่งออก ติดลบ 7.7%

“กรมประเมินภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เริ่มดีขึ้น หลายประเทศกลับมาประกอบธุรกิจและคลายล็อกดาวน์ อีกทั้งสินค้าไทยมีศักยภาพที่เป็นที่ต้องการของประเทศผู้นำเข้า กรมและเอกชนก็เร่งจัดกิจกรรมทุกช่องทาง โดยเฉพาะการจับคู่และเจรจาการค้าทางออนไลน์ ทำให้เกิดการเจรจาการค้าต่อเนื่อง”

สำหรับกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อการส่งออกทั้งในกลุ่มอาหาร เครื่องใช้การแพทย์และป้องกันโควิด สินค้าใช้ภายในบ้าน และสินค้าอุตสาหกรรมเริ่มมีคำสั่งซื้อแล้ว

สมเด็จ สุสมบูรณ์
สมเด็จ สุสมบูรณ์

“การส่งออกจะฟื้นเร็วแค่ไหนขึ้นกับสถานการณ์การระบาดของโควิดทั่วโลก และยังเชื่อว่าจะคลี่คลายในปีหน้า ปีนี้กรมจะเร่งผลักดันให้ส่งออกติดลบน้อยที่สุดและน่าจะติดลบ 7% ผ่านต่ำสุดมาแล้ว ไม่มีการติดลบ2 หลักอย่างที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงแน่นอน“ นายสมเด็จกล่าว

นายสมเด็จ กล่าวต่อว่า กรมได้รับแผนการทำงานรองรับยุค ”รวมไทยสร้างชาติ” และเร่งรัดยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มอันดับขีดความสามารถด้านส่งออกให้เป็นอันดับ 1 ใน 5 ของเอเชียภายในปี 2570 จากปี 2562 อยู่อันดับ 8 นั่นคือต้องเพิ่มมูลค่าการส่งออกอย่างน้อยปีละ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นเดือนละ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ในปี 2562 อันดับประเทศส่งออกของเอเชีย ประกอบด้วย 1) จีนและฮ่องกง มีมูลค่ารวม 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ 2) ญี่ปุ่น มูลค่า 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ 3) เกาหลีใต้ มูลค่า 5.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ 4) สิงคโปร์ มูลค่า 3.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

5) อินเดีย มูลค่า 3.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ 6) ไต้หวัน มูลค่า 3.05 แสนล้านเหรียญสหรัฐ 7) เวียดนาม มูลค่า 2.6 แสนล้านเหรียญ 8) ไทย มูลค่า 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ 9) มาเลเซีย มูลค่า 2.38 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และ 10) ตุรกี มูลค่า 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยหนุนเป้าหมายขึ้นเป็นท็อปไพว์การค้าในเอเชีย เนื่องจากรัฐบาลให้การสนับสนุนและผลักดันให้เกิดศักยภาพการผลิต และการปรับตัวรับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีการผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) โดยเน้นอุตสาหกรรมมูลค่าเพิ่มสูง เช่น ดิจิทัล สุขภาพและการแพทย์ การสร้างความน่าเชื่อและการพัฒนาสินค้ารองรับความต้องการโลกตลอดเวลา

“กรมมีแผนจัดกิจกรรมร่วมกับผู้ผลิตและผู้ส่งออกตลอดเวลา เช่น การนำรูปแบบออนไลน์หรือกิจกรรมไฮบริดมาใช้ส่งเสริมการเจรจาและส่งออกกับทุกกลุ่มสินค้า และให้การสนับสนุนงบประมาณกลุ่มเอสเอ็มอี ให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลก 58 แห่ง ทำหน้าที่เป็นเซลส์แมนของประเทศ”