ไทยติดร่างแห ถูกสหรัฐเก็บภาษีเซฟการ์ดเครื่องซักผ้า

“USTIC” มีมติเอกฉันท์ 4 ต่อ 0 ชี้นำเข้าเครื่องซักผ้าทำอุตสาหกรรมสหรัฐเสียหาย เตรียมพิจารณามาตรการเยียวยา 26 ต.ค.นี้ ด้าน “พาณิชย์” ยันผลเจรจาการค้าไทย-สหรัฐไม่มีเรื่องเปิดนำเข้าเนื้อหมู

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า วันที่ 5 ต.ค. 2560 คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐ (USTIC) ได้ออกประกาศหลังพิจารณาผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าเครื่องซักผ้าและอุปกรณ์ประกอบตามข้อร้องเรียนของผู้ผลิตเครื่องซักผ้ารายใหญ่ของสหรัฐ โดยมีมติ 4 ต่อ 0 ว่า ปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรมภายในของสหรัฐตามที่ได้ประกาศ (Investigation No.TA-201-76) เปิดไต่สวน เพื่อใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น (safeguard) กับสินค้าเครื่องซักผ้าและอุปกรณ์ประกอบ (Large Residential Washers : LRWs) 3 พิกัด คือ พิกัด 845020 พิกัด 845090 และพิกัด 845011 ที่สหรัฐนำเข้าจากทั่วโลก ตามคำร้องขอของบริษัท Whirlpool Corporation ผู้ผลิตเครื่องซักผ้ารายใหญ่ของสหรัฐ แบรนด์ Whirlpool ได้ร้องเรียนว่ามีการนำเข้าสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นจำนวนมากในปี 2559 ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อผู้ผลิตภายในประเทศ เข้าข่ายผิดกฎหมายการค้าปี 1974 มาตรา 202

ทั้งนี้ ผลการพิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้น ได้เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการไต่สวนเพิ่มประเด็นการนำเข้าจากประเทศคู่ค้า ตามความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อีกราว 8 ฉบับ คือ ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) โดยเฉพาะแคนาดา และเม็กซิโก, ความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างสหรัฐ สาธารณรัฐโดมินิกัน และอเมริกากลาง (CAFTA-DR), ความตกลง

เอฟทีเอสหรัฐ-เกาหลีใต้, ความตกลงเอฟทีเอสหรัฐ-โคลอมเบีย, ความตกลงเอฟทีเอสหรัฐ-จอร์แดน, ความตกลงส่งเสริมการค้าระหว่างสหรัฐ-ปานามา, ความตกลงเอฟทีเอสหรัฐ-เปรู และความตกลงเอฟทีเอสหรัฐ-สิงคโปร์ ซึ่งอาจมีส่วนให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นหรือไม่

หลังจากนี้ USITC จะเปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการเยียวยาผู้ประกอบการสหรัฐอีกครั้ง 19 ต.ค.นี้ และเปิดให้ส่งข้อมูลประกอบการให้ความเห็นภายใน 26 ต.ค. ก่อนพิจารณามาตรการเยียวยาความเสียหายให้เอกชนสหรัฐ วันที่ 21 พ.ย. และนำเสนอรายงานต่อประธานาธิบดีภายใน 4 ธ.ค. 2560

สำหรับประเด็นการเปิดตลาดนำเข้าเนื้อสุกรสหรัฐ คณะเจรจาฝ่ายกระทรวงพาณิชย์ของไทยยืนยันว่า ไม่ได้หยิบยกขึ้นเจรจาระหว่างร่วมคณะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปเยือนสหรัฐ 2-4 ต.ค.ที่ผ่านมา

ขณะที่นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยผลการเจรจาประเด็นการค้าว่า ไทยคาดหวังว่าสหรัฐจะถอดไทยออกจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (PWL) โดยเร็ว หลังจากสหรัฐเปิดทบทวนการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยนอกรอบ และขอให้สหรัฐช่วยลดความเข้มข้นของระดับการฉายรังสีผลไม้ไทยที่ส่งไปสหรัฐ เช่น มะม่วง กับเร่งออกประกาศใบอนุญาตด้านสุขอนามัยให้ส้มโอจากไทยซึ่งได้ยื่นคำขอตั้งแต่ปี 2558

ทั้งนี้ ภายหลังหารือระดับผู้นำ นางอภิรดีได้เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตร Thai SELECT แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในสหรัฐ 23 ราย เพื่อให้การรับรองและส่งเสริมอาหารไทยแท้ทั่วโลก ปัจจุบันมีร้านอาหารไทยในสหรัฐ 5,000 ร้าน โดยร้านอาหารไทย 588 ร้าน ได้รับตรา Thai SELECT จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ถือเป็นร้านอาหารไทยที่มีคุณสมบัติและมาตรฐานการให้บริการในระดับสูง

ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่า ไทย-สหรัฐได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) 3 ฉบับ คือ 1) ระหว่างหอการค้าไทยและหอการค้าสหรัฐ เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนและคัดเลือกสาขาธุรกิจ 2) MOU ระหว่าง บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) กับหน่วยงานด้านการจ้างงานของมลรัฐโอไฮโอ เกี่ยวกับความร่วมมือในการศึกษาและจัดทำโครงการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่เขตเบลมอนต์ 3) MOU ระหว่างบริษัท เอสซีจี (SCG) กับ Smoky Mountain Coal Corporation เพื่อสั่งซื้อถ่านหินสหรัฐ