“ศรีตรังโกลฟส์” ทุ่ม 2.4 หมื่นล้าน ผลิตถุงมือยางส่งขายทั่วโลก

ถุงมือยางธรรมชาติ

โอกาสในวิกฤตโควิด-19 ดีมานด์ถุงมือยางนิวไฮรอบ 100 ปี “ศรีตรังโกลฟส์” รับออร์เดอร์ล่วงหน้าถุงมือธรรมชาติ-ไนไตรต์ถึงปี’65 ควักงบฯลงทุน 24,000 ล้าน ขยายกำลังผลิต 4 โรงงาน รับแรงงานเพิ่ม 2,500 คน ดันยอดผลิต 7 หมื่นล้านชิ้นเร็วกว่าเป้าหมาย 2 ปี พร้อมต่อยอดนวัตกรรม “ซีโร่โปรตีน”

วิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจสินค้าถุงมือยาง บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเพิ่งเริ่มเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา แจ้งผลประกอบการไตรมาส 2/63 ยอดขายเพิ่มขึ้นในด้านปริมาณและรายได้

นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์โควิดทำให้ตลาดมีความต้องการสินค้าถุงมือยางเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 12% ในส่วนบริษัทปี 2563 นี้คาดว่าจะมีคำสั่งซื้อถุงมือยางเฉลี่ยไตรมาสละ 7,500 ล้านชิ้น รวมทั้งปี 28,000-29,000 ล้านชิ้น ที่สำคัญมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าถุงมือยางธรรมชาติไปถึงไตรมาส 3/64 และถุงมือยางสังเคราะห์ (ไนไตรต์) ถึงกลางปี 2565 แล้ว จึงเห็นภาพว่าแนวโน้มในปีหน้ายอดขายมีโอกาสเติบโต 12% ต่อเนื่องจากปีนี้

“ออร์เดอร์ล่วงหน้าแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตั้งแต่ทำงานมา 20 ปี ก่อนหน้านี้ย้อนไปปี 1918 โลกเจอสถานการณ์หนัก ๆ เรื่องไข้หวัดสเปน ยุคนี้ไวรัสโควิดจึงถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 100 ปี เพราะตอนโรค H5N1 ไข้หวัดซาร์ส ไข้หวัดเมอร์ส ก็ไม่ได้ระบาดไปทั่วโลกและจบเร็ว ส่วนโควิดอัตราติดเชื้อง่าย แม้ว่าจะไม่รุนแรง คนที่ติดอาจไม่รู้ตัวว่าเป็นแล้วนำไปแพร่ต่อ และถึงแม้ว่ารัฐบาลคลายล็อกดาวน์ทุกธุรกิจก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้ถุงมือ นี่คือ นิวนอร์มอลของเราที่ทุกคนใส่ใจสุขภาพ”

ทุ่ม 2.4 หมื่นล้านขยายการผลิต

ล่าสุด บริษัทวางแผนลงทุนขยายกำลังการผลิตรองรับปริมาณออร์เดอร์ทะลักจำนวน 24,000 ล้านบาท มาจาก 3 แหล่งทุน คือ ระดมทุน, กู้จากสถาบันการเงินในประเทศ โดยได้รับชดเชยดอกเบี้ย 3% จากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และรายได้จากผลการประกอบธุรกิจ โดยนำไปใช้ลงทุนขยายโรงงานผลิตถุงมือยาง 90% ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต 5% และลงทุนพัฒนานวัตกรรม 5%

สำหรับแผนขยายโรงงาน ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 4 โรงงาน คาดว่าจะแล้วเสร็จและทยอยเปิดเดินเครื่องผลิตไตรมาสละ 1 โรงงานในปี 2564 ประกอบด้วย โรงงานใน อ.สะเดา จ.สงขลา 2 แห่ง กำลังการผลิตรวม 10,000 ล้านชิ้น, จ.สุราษฎร์ธานี 2 แห่ง กำลังการผลิตรวม 6,000 ล้านชิ้น ทั้ง 4 โรงงานนี้จะมาเสริมความสามารถในการผลิตของ STA โดยก่อนหน้านี้เพิ่งขยายโรงงาน 2 แห่ง ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ จ.ตรัง โดยเริ่มไลน์ผลิต 100% เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ขณะนี้ใช้กำลังการผลิตเต็มที่เฉลี่ย 95-100%

รับแรงงานใหม่ 2,500 คน

ขณะเดียวกัน ศรีตรังโกลฟส์ได้เปิดรับสมัครงาน โดยจัดโรดโชว์ตามมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษารับสมัครพนักงานเพื่อมาฝึกอบรม เตรียมพร้อมสำหรับโรงงานใหม่ที่เตรียมเปิดการผลิตในปี 2564 เบื้องต้นเฉลี่ยแต่ละโรงงานต้องการพนักงาน 600-700 คน รวม 4 โรงงาน คิดเป็นความต้องการจ้างงานรวม 2,500 คน ควบคู่กับมีการพัฒนาทักษะ upskill-reskill พนักงานในโรงงานเดิมที่มีอยู่ 6,500-7,000 คน

โควิด-19 ช่วยโตเร็วกว่าเป้าหมาย

นางสาวจริญญากล่าวว่า เดิมศรีตรังโกลฟส์วางสเต็ปการเติบโตระยะ 4 ปี ขับเคลื่อนยอดผลิตเพิ่มเป็น 70,000 ล้านชิ้นภายในปี 2028 แต่ปัจจัยบวกโรคระบาดโควิดทำให้ดีมานด์ใช้ถุงมือเติบโตเกินคาดหมาย ทำให้คาดว่าบริษัทสามารถบรรลุเป้าตัวเลข 70,000 ล้านชิ้นได้เร็วขึ้น 2 ปี หรือภายในปี 2026 (2569)

โดยสถานะในตลาดโลกพบว่า ศรีตรังโกลฟส์อยู่อันดับ 3 รองจากท็อปโกลฟและฮาตาริก้า ซึ่งคู่แข่งทั้ง 2 รายเน้นการผลิตถุงมือยางสังเคราะห์ ในขณะที่หากแยกเซ็กเมนต์เฉพาะสินค้าถุงมือยางธรรมชาติ ศรีตรังโกลฟส์ถือเป็นอันดับ 2 ของโลก

“ปัจจัยบวกสำคัญในปีนี้มีโรคระบาดโควิดมาช่วยหนุน นอกจากดีมานด์พื้นฐานจากประชากรสูงอายุ โครงสร้างสาธารณสุขที่มีการปรับปรุงเพิ่มขึ้นของประเทศกำลังพัฒนา ในส่วนโรคระบาดที่เป็นตัวกระตุ้นดีมานด์ใช้ถุงมือยางเฉลี่ยเกิดขึ้นทุก 5-10 ปี ส่วนปัจจัยเสี่ยงคือราคาวัตถุดิบ และค่าเงินแข็งซึ่งธุรกิจส่งออกไม่ค่อยชอบ ประเด็นค่าเงินจะต้องไม่แตกต่างจากคู่แข่ง เพราะเรามีคู่แข่งหลักคือมาเลเซีย ถ้าค่าเงินบาทแข็งเงินริงกิตอ่อน เราขาดทุนกำไรหรือผลกำไรน้อยลงเพราะต้องตั้งราคาต่ำมาสู้ เหตุการณ์พิเศษในปีนี้มาเลเซียเจอล็อกดาวน์ประเทศจึงเป็นโอกาสของเรา”

ส่วนการบริหารจัดการวัตถุดิบค่อนข้างทำได้ดี โดยมีบริษัทศรีตรังฯหรือ STA เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบต้นน้ำ (สวนยาง) และกลางน้ำ โดยช่วงต้นน้ำทาง STA ทำสวนยางและอยู่ระหว่างเตรียมกรีดยาง มีเกษตรกรในเครือข่ายรับซื้ออยู่แล้ว ทั้งนี้ บริษัทมีการวางแผนเตรียมน้ำยางข้นสำหรับการผลิตแต่ละปี 1.3 แสนตัน คาดว่าแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 แสนตัน อาจจะต้องมีการลงทุนขยายกำลังผลิตน้ำยางข้นเพิ่มขึ้น

ต่อยอดนวัตกรรมถุงมือยาง

นางสาวจริญญากล่าวต่อว่า บริษัทมีหน่วยงานทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ มีโครงการอยู่ระหว่างการวิจัย 2-3 ชิ้น เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ถุงมือยางพรีเมี่ยม เช่น การวิจัยถุงมือยางธรรมชาติชนิดไม่มีแป้งให้เป็น “ซีโร่โปรตีน” พัฒนาให้โปรตีนชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพ้สำหรับผู้สวมใส่หายไป เป้าหมายต้องการเจาะตลาดสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดที่ต้องการสินค้าพรีเมี่ยมคุณภาพสูง คุณสมบัติเทียบเท่าถุงมือยางไนไตรต์ ถ้าสำเร็จจะมีราคาสูงขึ้น 30% คาดว่างานวิจัยจะเห็นผลเป็นรูปธรรมในปี 2564

นอกจากนี้ บริษัทยังได้มุ่งพัฒนาแบรนด์ศรีตรังฯให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น พร้อมทั้งขยายไปยังตลาดใหม่ ๆ จากเดิมมีลูกค้า 140 ประเทศ เป้าต้องการเพิ่มเป็น 180 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีแนวโน้มต้องการถุงมือยางมากขึ้น เช่น แอฟริกา ช่องทางปกติใช้วิธีส่งทีมการตลาดเข้าไปประจำแล้วใช้กลยุทธ์น็อกดอร์ ในช่วงโควิดเพิ่มระบบการสื่อสารทางออนไลน์

ล่าสุดมีเมล์ออร์เดอร์จากลูกค้าใหม่ ๆ เข้ามาวันละ 100-200 เมล์ ขยายฐานลูกค้าประเทศใหม่ ๆ โดยบริษัทเน้นส่งมอบลูกค้าเดิมก่อน ส่วนที่เหลือจะตัดขายแบบสปอตให้กับลูกค้าใหม่ หากยอมรับราคาได้ก็จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป

“นอกจากเปิดตลาดใหม่ขยายฐานลูกค้า บริษัทมีแผนคู่ขนานเพิ่มสัดส่วนลูกค้าในตลาดเดิม เช่น สหรัฐ อียู ตลาดอาเซียนอย่างเวียดนาม ฯลฯ ซึ่งในประเทศที่มีศักยภาพ กลยุทธ์การทำตลาดใช้ทีมขายไปประจำ เช่น ในสหรัฐมีทั้งทีมขายและบริษัทเทรดเดอร์ของศรีตรังฯช่วยขายผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้า มีทั้งแบบรับจ้างผลิต และขายภายใต้แบรนด์ศรีตรังฯ ปัจจุบันมีสัดส่วน 18% ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 20% ในปี 2564”