เตือนประชาชนระมัดระวังการบริโภคหมู เกษตรฯ ถกแผนรับมือสัปดาห์หน้า

หมู

“ประภัตร” เตือนประชาชนระมัดระวังการบริโภคหมู พบหมูไข้สูงอาการคล้ายติดโควิด-เล็งหารือผู้เลี้ยงสกัด หลังภาคเหนือหมูตายติดไวรัสเพิร์ชจำนวนมาก สั่งปศุสัตว์ตั้ง 2 ด่าน ”ลำปาง-ตาก” หวั่นระบาดลงภาคกลาง

นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สัปดาห์หน้าจะเชิญสมาคมผู้เลี้ยงหมูเข้าหารือแนวทางรับมือการระบาดของไวรัสในหมูที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ ในหลายจังหวัด อาทิ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง ตาก เป็นต้น หลังศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบน และปศุสัตว์จังหวัดลงพื้นที่พบหมูตายจำนวนมาก

เบื้องต้นพบหมูติดเชื้อไวรัสพีอาร์อาร์เอส (Porcine reproductive and respiratory syndrome) หรือเรียกว่าโรคเพิร์ช เป็นโรคระบาดหมู ที่ไม่ติดต่อสู่คน โดยสั่งให้ปศุสัตว์จังหวัดแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีหมูป่วยตาย อย่านำหมูไปจำหน่าย หรือบริโภค เพราะตามขั้นตอนการตัดตอนโรคระบาดของกรมปศุสัตว์ เพื่อไม่ให้โรคระบาดกระจายเป็นวงกว้าง โรคเพิร์ช เป็นกลุ่มโรคที่มีอาการทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจในหมู

ทั้งนี้ หากหมูติดเชื้อสามารถขับเชื้อไวรัสผ่านทางสารคัดหลั่งต่าง ๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย น้ำเชื้อ รวมทั้งปัสสาวะ อุจจาระ และน้ำนม หมูที่ติดโรคเพิร์ชจะมีไข้สูงคล้ายกับคนเป็นโควิด ตรวจพบไม่นานก็ตาย ไม่เกิน 2-3 วัน วิธีที่สามารถยับยั้งการระบาด คือการตัดตอนไม่ให้ไปติดต่อสู่หมูคอกอื่นๆ

“เพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำลายหมูของเกษตรกรในคอกและคอกใกล้เคียง เพื่อลดความเสี่ยงของโรคระบาด หลังการตรวจสอบในจังหวัดลำพูน พบหมูมีไข้สูงคล้ายคนเป็นโควิด ท้องเสีย ผิวแดง ทางเดินหายใจไม่สะดวก ตายไปแล้วประมาณ 23 ตัว จึงสั่งการให้ปศุสัตว์ส่วนกลางระดม กำลังขึ้นไปตรวจสอบและควบคุม และเตรียมตั้งด่านใน 2 จังหวัด คือ ลำปาง และตาก เพื่อสกัด ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายหมูลงภาคกลาง”

นายประภัตรกล่าวว่า ยืนยันสาเหตุหมูตายในพื้นที่ภาคเหนือ ไม่ใช่โรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู หรือ เอเอสเอฟ แน่นอน เพราะไทยมีแผนรับมือการระบาดของเอเอสเอฟ เป็นวาระแห่งชาติภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณดำเนินการ 3 ปี (พ.ศ. 2562 – 2564) ซึ่งขณะนี้ยังคงดำเนินการอย่างเข้มงวด ภายใต้ 3 ระยะคือ 1.ระยะก่อนเผชิญเหตุระบาด 2.ระยะเผชิญเหตุระบาด และ 3.ระยะหลังเผชิญเหตุระบาด

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กระบวนการผลิตเนื้อสุกรของไทย มีมาตรฐานกรมปศุสัตว์รองรับ ทำให้ได้เนื้อสุกรที่มีคุณภาพปลอดภัย ตรวจสอบย้อนกลับได้ ผู้บริโภคสามารถนำไปปรุงสุกและรับประทานได้อย่างมั่นใจ แต่ขณะนี้กลับพบข้อความข่าวลวงที่ส่งต่อกันในทำนองชวนคนงดบริโภค โดยใช้มุขเดิมเรื่องโรคในสุกร และภาพสุกรที่นำมาประกอบน่าจะเป็นของประเทศอื่น เนื่องจากตามหลักปฏิบัติของกรมปศุสัตว์แล้ว จะยึดหลักการพื้นฐานด้านการควบคุมและป้องกันโรคสัตว์ ตามมาตรฐานสากลอย่างเข้มงวด