จัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ 4 แสนตัน นำร่อง “นนทบุรี-บุรีรัมย์”

ขยะอิเล็กทรอนิกส์
ภาพ Pixabay

รัฐ-เอกชน เร่ง พ.ร.บ.จัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและขยะอิเล็กทรอนิกส์ อีก 15 เดือนพร้อมคลอด คิกออฟโครงการศึกษาวิจัยจำลองกระบวนการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 400,000 ตัน/ปี นำร่อง 2 จังหวัด “นนทบุรี-บุรีรัมย์” ทันที

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวยอมรับว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีจำนวนถึง 400,000 ตัน/ปี ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก และยังเป็นอันตรายเมื่อมีการคัดแยกแบบผิดวิธี

สอดคล้องกับที่รัฐบาลและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2560 แม้ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ได้เร่งให้ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เกิดขึ้นให้เสร็จภายใน 15 เดือน หรือช่วงเดือน ก.ย. 2564 จะต้องเห็นร่าง พ.ร.บ.ฯ ออกมา

ขณะเดียวกัน ระหว่างนี้จะต้องทำ โครงการศึกษาวิจัยจำลองกระบวนการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ควบคู่ไปพร้อมกันซึ่งผลการศึกษาจะนำมาเป็นส่วนประกอบใน ร่าง พ.ร.บ.ฯ ด้วยเช่นกัน

นายณรัฐ รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า พ.ร.บ.จัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทีอนิกส์ของประเทศไทย จะครอบคลุมเครื่องใช้ไฟฟ้า 5 ประเภท ได้แก่ คอมพิวเตอร์ เครื่องโทรศัพย์และโทรศัพย์ไร้สาย เครื่องปรับอากาศ เครื่องรับโทรทัศน์ ตู้เย็น

ซึ่งในโครงการศึกษาฯ ได้รับการสนับสนุนจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รวมถึงหน่วยงานต่างๆ และเอกชนอีกจำนวนมาก โดยจะนำร่องใน 2 จังหวัด คือ นนทบุรี เนื่องจากสามารถเป็นแบบจำลองชุมชนเมืองได้ที่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหลากหลายจำนวนมาก และบุรีรัมย์สามารถเป็นแบบจำลองจังหวัดที่มีกำลังซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า และมีการคัดแยกเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในส่วนของเอกชนผู้ผลิตเองในอนาคตนับจากนี้ ตะต้องมีการวางแผนผลิตสินค้าที่สามารถนำไปใช้ซ้ำ หรือรีไซเคิลได้ และอีกภายใน 2-3 ปี หากไทยไม่ปรับตัวเราจะประสบกับการถูกกีดกันทางการค้าจากยุโรป ซึ่งนุโรปเริ่มจะส่งสัญญาญว่า สินค้าที่ผลิตขึ้นมานั้นกระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ถ้ามีส่วนผลกระทบจะถูกเก็บภาษีเพิ่มในอัตราที่มาก