FTA Watch ชี้น่าผิดหวังกับการทำหน้าที่กรมเจรจาการค้าฯ กรณีเปิดเสรีนำเข้าเนื้อสุกรที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐ

FTA Watch ชี้น่าผิดหวังกับการทำหน้าที่ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อย่างยิ่งเรื่องเปิดเสรีนำเข้าเนื้อสุกรที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2560 องค์กร FTA Watch เผยแพร่ข้อความทางเว็บไซต์ ระบุถึง คำชี้แจงของกระทรวงพาณิชย์ที่ว่า ไทยต้องปฏิบัติตาม CODEX (องค์การมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ) ที่อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์และพบการปนเปื้อนได้ในระดับหนึ่ง เพื่อเปิดทางให้มีการนำเข้าหมูจากสหรัฐฯ นั้นเป็นการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ ในฐานะเป็นประเทศการค้า และเป็นสมาชิกของโคเด็กซ์ หากไม่ปฏิบัติตามอาจจะถูกประเทศคู่ค้าฟ้องร้องได้

น่าผิดหวังกับการทำหน้าที่ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อย่างยิ่ง ที่ไม่ทราบหรือจงใจไม่ทราบเพราะเหตุอันใดก็แล้วแต่ว่า การกำหนดมาตรการเพื่อปกป้องชีวิตมนุษย์และสัตว์ จากสารปรุงแต่งสารปนเปื้อน สารพิษ หรือเชื้อโรคในอาหาร ของประเทศสมาชิกภายใต้องค์การการค้าโลก (World Trade Organization-WTO) นั้น จะอยู่ภายใต้ความตกลงที่ชื่อว่า “มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures-SPS)” ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อใช้ควบคุมสินค้าเกษตรและอาหาร ไม่ให้เกิดโทษต่อชีวิต และ/หรือผลเสียต่อสุขภาพของชีวิตมนุษย์ พืช และสัตว์ โดยไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้า ซึ่งความตกลงดังกล่าวขอให้ประเทศสมาชิกกำหนดมาตรการ SPS โดยอ้างอิงมาตรฐานระหว่างประเทศที่มีอยู่ เช่น มาตรฐาน Codex ซึ่งว่าด้วยมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร หรือ มาตรฐาน OIE ว่าด้วยมาตรฐานการควบคุมโรคของสัตว์ แต่อย่างไรก็ตามความตกลงดังกล่าวก็ยังเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกสามารถกำหนดมาตรฐานขึ้นสำหรับประเทศที่เข้มงวดกล่ามาตรฐาน Codex เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนได้ โดยจะต้องมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มารองรับ (Art 3.3 ของ SPS)

นอกจากนี้ยังมีความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) ข้อ 2.2, 2.4 และ 2.5 ที่เปิดช่องไว้

โดยที่ ข้อ 2.2 ระบุว่า กฎเกณฑ์จะต้องไม่เข้มงวดต่อการค้าเกินความจำเป็นเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์อันชอบธรรมซึ่งรวมถึง ความมั่นคงของประเทศ การป้องกันกาการกระทำที่หลอกลวง การปกป้องสุขภาพมนุษย์และความปลอดภัย

ข้อ 2.4 เมื่อจำเป็นต้องออกกฎเกณฑ์ด้านเทคนิค และมีมาตรฐานระหว่างประเทศอยู่แล้วหรือกำลังจะเกิดขึ้น ให้ใช้มาตรฐานนั้นหรือบางส่วนที่เกี่ยวข้อง ยกเว้นกรณีที่ไม่เพียงพอหรือไม่เหมาะสม

และ ข้อ 2.5 เมื่อเตรียมการ ยอมรับ หรือประยุกต์ใช้กฎระเบียบทางเทคนิคซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการค้าของประเทศสมาชิกอื่น เมื่อมีการร้องขอจะต้องอธิบายให้เหตุผลตามที่กำหนดในมาตรา 2.2-2.4 และถ้าเป็นไปตามวัตถุประสงค์อันชอบธรรมดังกล่าวใน 2.2 แล้ว และสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ก็จะต้องถือว่าเป็นข้อสันนิฐานที่หักล้างได้ (shall be rebuttably presumed) ว่าไม่ได้สร้างอุปสรรคทางการค้าเกินจำเป็น

กระทรวงพาณิชย์ ควรศึกษาทำความเข้าใจกฎเกณฑ์เหล่านี้เพื่อให้ข้อมูลและทัดทานผู้มีอำนาจอย่ากระทำการใดๆตามอำเภอใจจนประชาชนได้รับความเดือดร้อนเพราะที่ผ่านมา อาจสามารถกล่าวได้ว่า พวกท่านๆได้ทำให้เราเดือดร้อนมามากพอแล้ว