“ไทยออยล์” หนุนรัฐจ้างงานกว่า 20,000 อัตรา ลุยพลังงานสะอาด

‘ไทยออยล์’ หนุนนโยบายรัฐบาลโดยการจ้างงานกว่า 20,000 อัตรารับการลงทุนโครงการพลังงานสะอาด พร้อมเทงบ 1 ล้านบาท ซื้อห้องพักตามโครงการ Workation ฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากไวรัส COVID-19 ว่าปัจจุบันไทยออยล์อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด หรือ CFP (Clean Fuel Project) ซึ่งถือเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่โครงการแรกในพื้นที่ EEC ที่ใช้เม็ดเงินลงทุนสูงถึงกว่า 150,000 ล้านบาท

โดยประเมินว่าโครงการ CFP จะช่วยให้เกิดกระแสเงินหมุนเวียนขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศโดยตรงมากกว่า 40,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศประมาณ 17,000 ล้านบาท และการจ้างงานประมาณ 23,000 ล้านบาท

วิรัตน์ เอื้อนฤมิต
วิรัตน์ เอื้อนฤมิต

โดยในช่วงก่อสร้างโครงการตั้งแต่ปี 2562 – 2566 ประเมินว่าจะมีการจ้างงานโดยรวมสูงถึง 21,000 อัตรา ซึ่งปัจจุบันมีการจ้างแรงงานไปแล้วประมาณ 12,000 อัตรา ส่วนที่เหลือประมาณ 9,000 อัตราจะมีการจัดจ้างภายในปี 2564 นอกจากนี้ยังจะมีการจ้างงานเพิ่มเติมอีก 400 อัตรา เพื่อรองรับการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการในปี 2566 ด้วย

นายวิรัตน์ กล่าวว่า การที่โครงการ CFP ต้องใช้แรงงานและผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากในช่วงระหว่างการก่อสร้างจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านการจับจ่ายใช้สอยอุปโภคบริโภค โรงแรม/ ที่พัก / ร้านอาหาร และการท่องเที่ยวในพื้นที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นบริเวณอำเภอศรีราชา และพื้นที่ใกล้เคียง

พร้อมกันนี้ไทยออยล์ยังเข้าร่วมให้การสนับสนุน โครงการ Workation Thailand ทำงานเที่ยวได้รวมใจช่วยชาติ เป็นมูลค่า 1 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรมโดยไทยออยล์ จะใช้ประโยชน์จากแพ็กเกจที่พักในราคาพิเศษที่ได้รับจากโครงการนี้สำหรับการฝึกอบรม สัมมนาพนักงาน และ เป็นที่พักของผู้เชี่ยวชาญ / ที่ปรึกษาที่เข้ามาช่วยงานโครงการ CFP

“โครงการ CFP เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์ เพิ่มประสิทธิภาพด้านการกลั่นน้ำมันของไทยออยล์ช่วยเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันด้วยการขยายกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นจาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน มีการเพิ่มคุณภาพเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ทั้งยังผลิตสารตั้งต้นที่สามารถต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าผลิตภัณฑ์ไปสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีอีกด้วย” นายวิรัตน์กล่าว