“จุรินทร์” สั่งลุย JTC อินเดีย เคลียร์อุปสรรค-ดันส่งออกโค้งสุดท้าย

“จุรินทร์”เตรียมใช้เวที JTC ไทย-อินเดีย 29 ต.ค.นี้ เคลียร์อุปสรรคการค้า หลังพบอินเดียออกมาตรการนำเข้าปุ๋ย-แหล่งกำเนิดสินค้าป้องกันการสวมสิทธิ์เอฟทีเอเข้มมาก หวั่นกระทบผู้ส่งออกไทย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมาว่า ผู้ส่งออกสินค้าไทยไปอินเดียมีความกังวล หลังพบว่าอินเดียออกมาตรการด้านการนำเข้าในหลายสินค้า เช่น มาตรฐานสินค้าเคมีภัณฑ์ ปุ๋ยเคมี ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2564 นี้

คาดว่าจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทย ล่าสุดมอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศใช้เวทีการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-อินเดีย (JTC ไทย-อินเดีย) ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 29 ตุลาคม 2563 นี้ ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อหาทางออกเรื่องนี้

“เวทีเจทีซีประชุมหลังจากไม่ได้มีการประชุมมาร่วม 10 ปี ดังนั้น การประชุมครั้งนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะนำประเด็นปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ เข้าไปหารือและพูดคุย เพื่อหาทางออกและลดอุปสรรคร่วมกัน อีกทั้งเพิ่มมูลค่าการค้า-การส่งออกให้มากยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ ล่าสุดรายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ระบุว่าเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 กรมสรรพากรของอินเดียประกาศกฎระเบียบศุลกากรใหม่ โดยปรับปรุงแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าโดยเฉพาะสินค้าในความตกลงการค้าเสรีการค้า (เอฟทีเอ) ให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 กันยายน 2563 ซึ่งอินเดียอ้างว่าต้องการป้องกันการทุ่มตลาดจากประเทศที่ 3ที่มีเอฟทีเอ อาทิ ประเทศสมาชิกอาเซียน เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นต้น

“ประกาศดังกล่าว กรมสรรพากรจะเข้มงวดในการตรวจหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) และใบตราส่งสินค้า (B/L) โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรอาจขอเอกสารเพิ่มเติมเพื่อตรวจพิสูจน์ข้อมูลในใบ C/O และ B/L จากผู้นำเข้าหรือตัวแทน จึงประสานขอข้อมูลจากผู้ผลิตในประเทศต้นทางเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า (origin criteria) ตามความตกลงการค้านั้น ๆ ซึ่งข้อมูลบางรายการเป็นข้อมูลด้านการตลาด ซึ่งเป็นความลับทางการค้า รายละเอียดมีมากเกินไป ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนและความล่าช้าของสินค้า”

อย่างไรก็ดี ขั้นตอนการขอตรวจสอบข้อมูลนั้น ศุลกากรของอินเดียหากสงสัยในเอกสาร ข้อมูลในใบ C/O และ B/L สามารถส่งข้อมูลเพื่อขอยืนยันจากประเทศต้นทางได้ แต่พบว่าเพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบ ทำให้การนำเข้าสินค้าล่าช้า สินค้าคงค้างที่คลังไม่ถูกกระจายสินค้าออกไป

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยกังวลการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย และไทย-อินเดีย เพื่อออกใบ C/O และ B/L ในการใช้สิทธิลดภาษี เพราะหากไม่ใช้จะมีภาษีเพิ่มขึ้น เช่น จอทีวีแอลอีดี เสียภาษีนำเข้า 5% เป็นต้น โดยในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. 2563 พบว่าไทยใช้สิทธิ์เอฟทีเอ ต่อมูลค่าการส่งออกไทยไปอินเดียในรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ์ อยู่ที่ 83.48% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ซึ่งมีสัดส่วนการใช้ที่สิทธิ์ 72.02%

สินค้าที่มีการใช้สิทธิ์กันมาก 10 อันดับแรก เช่น เครื่องปรับอากาศโพลิคาร์บอเนต ตู้เย็นที่มีตู้แช่แข็งโพลิอะไมด์ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ เป็นต้น สำหรับการค้าระหว่างประเทศไทย-อินเดีย ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2563 คิดเป็นมูลค่ารวม 3,507.83 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการส่งออกจากไทยมูลค่า 2,029.84 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 23.41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และไทยนำเข้าจากอินเดียมูลค่า 1,477.99 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า จำนวน 551.85 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายกองเอก เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า โดยปกติอินเดียนำเข้าแม่ปุ๋ยเป็นหลัก แต่ไม่ได้นำเข้าจากไทย ซึ่งมาตรการนำเข้าสินค้ากรณีปุ๋ยเคมีไม่กระทบต่อผู้ส่งออกไทย เนื่องจากไทยส่งออกปุ๋ยสำเร็จรูป และส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา