สมุดปกขาว AEDP ส.อ.ท.ชงรัฐหนุน “โรงไฟฟ้าทางเลือก”

เทรนด์พลังงานหมุนเวียนเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมาตลอด แต่ยังไม่เห็นความชัดเจนในทางปฏิบัติมากนัก โดยเฉพาะการจัดทำแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ล่าช้ายังไม่ตอบโจทย์ เป็นแรงผลักดันให้กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ต้องจัดเวทีสัมมนา “AEDP ภาคประชาชน” ระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำ “สมุดปกขาว” เป้าหมายส่งต่อให้รัฐบาลเดินเครื่องโรงไฟฟ้าชุมชน พัฒนาพลังงานสะอาด ลดก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องกับทิศทางอนุรักษ์พลังงานโลก

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย AEDP 2018 ที่จะมีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายเป็น 30% ในปี 2037 โดยการใช้เชื้อเพลิงเอทานอลจะเพิ่มขึ้นเป็น 11.3 ล้านลิตรต่อวัน และไบโอดีเซล 14 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการตามมาตรการ ทั้งการส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง E20 ยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 95 E10 และส่งเสริมการใช้ B10 เป็นพลังงานหลัก

เอกชนขอมีส่วนร่วมทำ AEDP

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การจัดทำสมุดปกขาว เพื่อยื่นข้อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้รับฟังเสียงสะท้อนของภาคเอกชน และภาคประชาชน

เพราะที่ผ่านมาการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ที่ประกอบด้วย 2 แผนหลัก คือ แผน AEDP และแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) ทางภาคเอกชนไม่มีส่วนร่วมในการเสนอแก้ไขปรับปรุงแผนดังกล่าว ดังนั้น จึงเห็นว่าควรปรับให้เหมาะสมกับอนาคต และสอดคล้องการลงทุนจริง

5 จุดโฟกัสพลังงานทดแทน

สำหรับประเด็นข้อเสนอ มีทั้งหมด 5 ประเด็น ประกอบด้วย 1) รัฐบาลต้องมุ่งเน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยเพิ่มเป้าหมายพลังงานลมเป็น 7,000 เมกะวัตต์ พร้อมขอให้มีการอนุญาตให้มีการซื้อขายไฟฟ้าแบบ peer to peer เชื่อมโยงการรับซื้อไฟฟ้าผ่านแพลตฟอร์มพลังงานแห่งชาติ (national energy trading platform) โดยจะต้องรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากโซลาร์รูฟท็อปในอัตรา 2.60 บาทต่อหน่วย เพื่อให้เกิดรายได้มากขึ้น

Advertisment

2.ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ โดยลดขั้นตอนและลดความซ้ำซ้อนในการขออนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าขยะให้มุ่งเน้นพัฒนาผังเมืองรองรับ พร้อมทั้งบริหารจัดการเก็บขยะแบบคัดแยกอย่างเป็นระบบ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการบริหารจัดการขยะและให้นำเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวลได้ในสัดส่วนไม่เกิน 20% ของปริมาณเชื้อเพลิงทั้งหมด

3.กรณีการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง หรือ prosumer ขอให้ภาครัฐส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าใช้เองของภาคประชาชน ปรับข้อกฎหมายตลาดของพลังงานไฟฟ้าจากผู้ซื้อปลีก หรือ enhanced single buyer ไปสู่ตลาดค้าส่งพลังงาน หรือ wholesale power market

Advertisment

โดยปรับปรุงรหัสสายส่ง (grid code) ให้เกิดความเหมาะสมและรองรับเทคโนโลยีปัจจุบัน โดยมีโรดแมปแพลตฟอร์มการค้าพลังงานดิจิทัล (digital energy trading platform) และบุคคลที่ 3 สามารถใช้โครงข่ายไฟฟ้าได้

4.รัฐบาลควรส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีโครงการต้นแบบ รถหัวลากไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งจะมีการนำรถบรรทุกหัวลากเก่ามาดัดแปลงเป็นรถบรรทุกไฟฟ้า 13,500 คัน

มีสถานีอัดประจุไฟฟ้า 433 สถานี เพื่อรองรับการชาร์จไฟฟ้าของรถบรรทุกหัวลากไฟฟ้า ซึ่งได้มีการศึกษาได้ 3 เส้นทาง ได้แก่ กทม.-อีอีซี กทม.-สระบุรี และ กทม.-พระนครศรีอยุธยา มูลค่าเงินลงทุนรวม 3 เส้นทาง ระยะเวลา 10 ปี เท่ากับ 127,878 ล้านบาท

5.สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพืชเกษตร หรือโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน โดยเสนอให้เร่งนำร่องไม่ต่ำกว่า 150 เมกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 10,300 ล้านบาท และหากดำเนินการได้ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่จะรับซื้อไฟฟ้ารวม 1,933 เมกะวัตต์ ยิ่งทำให้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็น 134,000 ล้านบาท รวมถึงช่วยให้เกิดการจ้างงานอีก 1 หมื่นตำแหน่งด้วย

พลังงาน-สิ่งแวดล้อม

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในเวทีครั้งนี้ได้มีการหยิบยกประเด็นเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” ที่ขณะนี้หลายประเทศอุตสาหกรรมพลังงานเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับ “คาร์บอนเครดิต” ที่ทางสหภาพยุโรปอยู่ระหว่างวางกฎระเบียบ โดยหลักการสำคัญของมาตรการปรับคาร์บอน คือ การตั้งกำแพงภาษีและจัดเก็บภาษีอากรขาเข้าพิเศษ หรือภาษีอื่น ๆ กับสินค้านำเข้าที่มีการใช้พลังงาน

นั่นหมายความว่า หากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายบังคับให้แต่ละองค์กรต้องรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ก็จะเป็นข้อต่อรองขีดความสามารถแข่งขันในอนาคตได้

ขณะที่การพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าหมุนเวียนไม่ใช่เรื่องง่าย “นายทวี จงควินิต” รองประธานด้านพลังงานขยะ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอว่า ขอให้รัฐบาล “เพิ่มโควตา” โรงไฟฟ้าขยะชุมชนให้มากขึ้น โดยบรรจุในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับ PDP 2022

เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณขยะมากถึง 28 ล้านตันต่อปี หรือ 70 ล้านกิโลกรัมต่อวัน จากแผนเดิมลดขยะได้เพียง 14 ล้านตันต่อวัน ซึ่งที่ผ่านมาการส่งเสริมโรงไฟฟ้าขยะยังติดขัดในเรื่องระเบียบกฎหมายของมหาดไทย และยังมีต้นทุนสูง มูลค่าการลงทุนแห่งละ 150 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หลังจากยกร่างสมุุดปกขาวฉบับนี้แล้ว “ส.อ.ท.” จะนำไปส่งมอบต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกว่า 10 หน่วยงาน ภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อบรรจุไว้ในแผน PDP 2022 ด้วย