บิ๊กธุรกิจจี้รัฐแก้ปม “วัคซีน” เศรษฐกิจฟื้นช้าวืดไฮซีซั่น

นั่งรอฉัดวีคซีน
FILE PHOTO : Lillian SUWANRUMPHA / AFP

ธุรกิจระทึกวัคซีนไม่มาตามนัด “แบงก์-ประกัน” ห่วงฟื้นเศรษฐกิจ ท่องเที่ยวหวั่นกระทบแผนเปิดรับนักท่องเที่ยว 1 ตุลาฯ 9 จังหวัด-พลาดไฮซีซั่น บิ๊กสหพัฒน์จี้รัฐปูพรมฉีดเร่งสร้างความเชื่อมั่น ปลุกประชาชนจับจ่าย-ช่วยเศรษฐกิจขับเคลื่อน ค้าปลีกแนะรัฐ-สธ.แก้ปมปัญหาดีมานด์-ซัพพลาย ชี้ยิ่งฉีดวัคซีนเพื่อชาติเร็วเศรษฐกิจยิ่งฟื้นเร็ว

จากความอลหม่านเลื่อนคิวการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในกรุุงเทพฯ หลังการดีเดย์ปูพรมฉีดทั่วประเทศเพียงสัปดาห์เดียว ไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นกับประชาชนที่จองคิวและรอการฉีดโดยตรงแล้ว อีกด้านหนึ่งภาคธุรกิจต่าง ๆ เริ่มกังวลกับปัญหาความไม่แนอน ทั้งแผนกระจายและการฉีดวัคซีนที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม

“แบงก์-ประกัน” ห่วงฟื้นเศรษฐกิจ

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากปัญหาความล่าช้าและเลื่อนเวลาการฉีดวัคซีนออกไปนั้น ย่อมกระทบต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และแผนเปิดประเทศ วัคซีนยิ่งมาช้าจะยิ่งกระทบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของไทยจะได้รับผลกระทบนานขึ้น รวมถึงร้านค้ารายย่อยที่สายป่านไม่ยาวมากอาจปิดตัวมากขึ้น หลังได้รับผลกระทบจากโควิดทั้ง 3 ระลอก ที่ทวีความรุนแรงและกินเวลายาวนาน

สำหรับผลกระทบในภาคสถาบันการเงิน จะเป็นเรื่องของการเข้าไปดูแลลูกค้าและผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง หากวัคซีนยิ่งช้าและใช้เวลานานธุรกิจจะได้รับผลกระทบมากขึ้น เนื่องจากขาดสภาพคล่องขาดเงินสดหมุนเวียน เพราะคนไม่กล้าออกมาใช้จ่าย โดยเฉพาะธุรกิจภาคบริการ ค้าส่งค้าปลีกได้รับผลกระทบหนัก ธนาคารจะต้องเข้าไปช่วยเหลือโดยการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้าเรื่อย ๆ จนกว่าวัคซีนจะมา

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การกระจายวัคซีนล่าช้าที่เกิดขึ้นมองว่าเป็นปัญหาในระยะเวลาชั่วคราว และรัฐบาลต้องรีบดำเนินการเพื่อแก้ปัญหา เพราะยิ่งเร็วก็ยิ่งดีต่อเศรษฐกิจ หากช้าภาคท่องเที่ยวก็จะกลับมาได้ช้าขึ้น

“ตอนนี้ทำยังไงก็ได้ให้คนไทยได้ฉีดวัคซีนได้เร็วที่สุด แต่รัฐบาลต้องมองปัจจัยวัคซีนทางเลือกเพิ่มด้วย และต้องคำนึงการควบคุมราคา โดยต้องตอบสนองถ้าภาคเอกชนหาวัคซีนทางเลือกเพิ่มได้” นางนุสรากล่าว

หวั่นกระทบแผนเปิด 9 จังหวัด

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจท่องเที่ยวในวันนี้ คือ การกระจายวัคซีนและการควบคุมการแพร่ระบาด หากไม่สามารถบริหารจัดการได้ ธุรกิจท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบต่อเนื่อง เดินหน้าต่อไปยาก

ปัญหาการกระจายวัคซีนประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติใน 9 จังหวัดนำร่องตามแผนวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ในจำนวนนี้มีบางพื้นที่ที่มีแผนทดลองเปิดในเดือนสิงหาคม อาทิ กระบี่ พังงา พัทยา เชียงใหม่ เป็นต้น กรณีภูเก็ตอาจไม่กระทบ เพราะเตรียมการล่วงหน้ามาระยะหนึ่งแล้ว

“หากการกระจายวัคซีนไม่เป็นไปตามแผน ไม่เพียงแต่ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น แต่ตลาดไทยเที่ยวไทยจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย”

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ย้ำว่า ภาคธุรกิจเป็นห่วงมากที่สุดในตอนนี้ คือ เรื่องกระจายวัคซีนที่ล่าช่าจะส่งผลกระทบต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงไตรมาส 4 หากพลาดไฮซีซั่นนี้ไปต้องรอปีหน้า หรือปลายปี 2565 ซึ่งหัวใจของธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงโรงแรมในวันนี้ คือ การบริหารจัดการให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนให้ได้มากที่สุด และเกิดการเดินทางได้อีกครั้ง

ฉีดวัคซีนเร็ว-เศรษฐกิจฟื้นเร็ว

นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.สหพัฒนพิบูล แสดงทรรศนะว่า การฉีดวัคซีนที่ล่าช้า ส่วนตัวค่อนข้างกังวลในกรณีแรงงานภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกที่กำลังฟื้นตัว อยากให้ฉีดได้เร็วที่สุด กรณีการเกิดคลัสเตอร์ในโรงงาน กระบวนการผลิตต้องหยุด สินค้าขาด ส่งออกจะสะดุด และกระทบในแง่เศรษฐกิจ ถ้าภาครัฐหาวัคซีนได้เพียงพอ การส่งออกจะมีโอกาสดี

การเร่งฉีดวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหารยังเดือดร้อน ต้องแบกรับต้นทุนสูง แม้มีการผ่อนคลายให้เปิดบริการ แต่คนไม่กล้าจับจ่าย ทางออกคือ การฉีดวัคซีนสร้างความเชื่อมั่น เพื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเร็ว

แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีกรายใหญ่ กล่าวว่า วัคซีนเป็นคำตอบของทุกอย่างในเวลานี้ จากปัญหาดีมานด์และซัพพลาย รัฐบาลหรือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องเร่งแก้ไขให้เร็วที่สุด หากมีวัคซีนเข้ามาและฉีดได้เร็วก็จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้มาก และเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เร็ว หรือหากปัญหาวัคซีนยังไม่ได้รับการแก้ไขและยังยืดเยื้อหรือดีเลย์ออกไป การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็จะล่าช้าตามออกไปด้วย

“ปัญหาเรื่องวัคซีนที่เกิดขึ้นในตอนนี้ หลัก ๆ จะกระทบกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคเป็นหลัก ส่วนในแง่ของภาคธุรกิจ ตอนนี้ผู้ประกอบการก็ได้มีการมอนิเตอร์และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาปรับแผนการตลาดให้สอดรับกับสถานการณ์”

อุตฯโฆษณาโดนหางเลข

ดร.ธราภุช จารุวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอพีจี มีเดียแบรนด์ ประเทศไทย จำกัด และนายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) กล่าวในเรื่องนี้ว่า ปัญหาการกระจายวัคซีนโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม รวมทั้งภาพรวมของการใช้เม็ดเงินโฆษณาของภาคธุรกิจต่าง ๆ

เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมโฆษณาในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ และอาจลากยาวถึงไตรมาส 3 จากช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ที่ภาพรวมมีการปรับตัวดีขึ้น และทำให้ต้องรอลุ้นว่าช่วงไตรมาสสุดท้ายที่เป็นไฮซีซั่นจะฟื้นตัวหรือมีเม็ดเงินเข้ามามากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการกระจายการฉีดวัคซีน หากเลื่อนหรือเกิดขึ้นแค่ระยะสั้น ๆ และสามารถกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติได้เร็วและเป็นไปตามแผนก็จะกระทบไม่มาก

นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ บริษัทอีเวนต์รายใหญ่ กล่าวถึงปัญหานี้ว่า ถ้าวัคซีนดีเลย์ 1-2 สัปดาห์อาจไม่กระทบธุรกิจมากนัก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือมีผลต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาลเป็นหลัก เพราะภาคธุรกิจรู้กันอยู่แล้วว่าต้องใช้เวลาในการฟื้นความเชื่อมั่นผู้บริโภค ถ้าสถานการณ์วัคซีนมีการดีเลย์เป็นเดือนจะยิ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคมากแน่นอน

ตลาดรถยนต์พอไหว

นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์วัคซีนขาดช่วงคงไม่ส่งผลกระทบเท่าใดเพราะก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีวัคซีน เรายังรอกันได้ตั้งปีกว่า ประกอบกับเดือนกรกฎาคมเราจะเริ่มเห็นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของค่ายรถยนต์ รวมทั้งมาสด้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายไปยังห้างสรรพสินค้า หรือตามตลาดนัด

เช่นเดียวกับนายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เชื่อว่า ผลกระทบจะเป็นช่วงสั้น ๆ บริษัทยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมปรับแผนธุรกิจและการตลาดให้สอดคล้องทันท่วงที

อีคอมเมิร์ซอัดโปรฯแรงไม่ยั้ง

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เปิดเผยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นและเห็นได้ชัด คือ กำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลงสะท้อนจากอีมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่ ทั้งลาซาด้า, ช้อปปี้ และเจดี เซ็นทรัล ได้จัดโปรโมชั่นลดราคาอย่างหนักและต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นยอดขาย เพราะมูลค่าการซื้อต่อครั้งลดลงเรื่อย ๆ แต่คาดการณ์ว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซปีนี้จะยังเติบโตเฉลี่ย 20-30% จากปีที่ผ่านมา

นางสาวสุชญา ปาลีวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากวิกฤตโควิด-19 ได้ผลักดันให้ผู้ประกอบการร้านค้าเรียนรู้และปรับตัวเร็วขึ้น สำหรับครึ่งปีหลังในแง่ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการคงต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง แต่กำลังซื้อของผู้บริโภคบนช่องทางออนไลน์ยังมีการซื้อต่อเนื่อง ในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคที่ย้ายจากการซื้อผ่านหน้าร้านมาอยู่บนออนไลน์

ลงทุนยังไม่สะดุด

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่นหรือ WHA Group เปิดเผยว่า ปัญหาวัคซีนที่ล่าช้ายังไม่เป็นปัญหาใหญ่และยังไม่มีผลต่อความเชื่อมั่น แต่หากวัคซีนต้องเลื่อนยาวก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง