ส่งออก “เนื้อจากพืช” สหรัฐ-ฮ่องกง-อียู สุดปัง

future food ที่มาแรงในขณะนี้คงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจาก plant based meat เนื้อเทียมที่ทำจากพืช ด้วยแนวคิดเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

หนุนให้เกิดความนิยมเพิ่มขึ้น และยิ่งเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น จุดประกายให้เทรนด์นี้แทรกซึมเข้ามาในไทยด้วย

สัปดาห์ที่ผ่านมา “ประชาชาติธุรกิจ” ได้เข้าร่วมรับฟัง webinar “โอกาส ตลาด แนวโน้ม และความต้องการของผู้บริโภค สินค้าเนื้อสัตว์จากพืช” (plant based meat)

จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อผู้ประกอบการที่ต้องการยกระดับสู่อาหารแห่งอนาคต

Gen Z สหรัฐ บูม Plant Based

นางขวัญนภา ผิวนิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ประจำลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ค้าปลีกอาหารในสหรัฐในปีที่ผ่านมา

เกิดทิศทางการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จากเดิมที่อาหาร plant based เป็นที่นิยมอยู่แล้ว เมื่อเกิดโควิด-19 ยิ่งทำให้ผู้บริโภคที่หันมารับประทานอาหารกันมากขึ้น

หากย้อนไปปี 2563 ตลาด plant based food ตลาดสหรัฐเติบโตกว่าเท่าตัว อยู่ที่ 27.10% หากเทียบกับตลาดรวมอาหาร อยู่ที่ 14.60% ด้วยปัจจัยหลักเทรนด์การรักษาสุขภาพ

เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ไปจนถึงความปลอดภัยของอาหารและการส่งเสริมสวัสดิภาพของสัตว์ โดย plant based meat ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ แฮมเบอร์เกอร์

น่าสนใจมาก คือ กลุ่มผู้บริโภค Gen Z หรือคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีจำนวนค่อนข้างมากทั้งหมดแทบ 100% ล้วนแต่เลือกบริโภคจากกระเเสเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยนิยมซื้อขายผ่านออนไลน์ แทบจะเรียกว่า “ขับเคลื่อนโลกแห่งอนาคต”

ปัจจุบันการนำเข้าจากไทยส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบ นม ชีส เนย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสอย่างมากที่จะพัฒนาเป็นสินค้ามายังสหรัฐ โดยต้องศึกษาเงื่อนไขการนำเข้ามาตรฐานสากล และติดฉลากสินค้า ตรารับรองเพื่อสร้างความเชื่อมั่น

ซึ่งภาครัฐพร้อมอํานวยความสะดวกช่วยเหลือผู้รับจ้างผลิต (OEM) ให้กับบริษัทสหรัฐ รวมถึงผู้ผลิตและจัดจําหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนเอง

ข้อมูลจากสํานักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจํากรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ฝ่ายเกษตร ประจําสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส ระบุว่า สินค้าเนื้อที่ผลิตจากพืช (plant based meat) กําลังเติบโตได้ดีในตลาดสหรัฐ

โดยในปี พ.ศ. 2562 มีมูลค่าทางการค้าสูงถึง 939 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 29,109 ล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่า จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (9.3 หมื่นล้านบาท) ภายในปี พ.ศ. 2567 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต ร้อยละ 48.5 ต่อปี เป็นการสะท้อนถึงความต้องการสินค้าเนื้อที่ผลิตจากพืชของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น

ฮ่องกงเปิดรับอาหารทางเลือก

นางชณันภัสร์ พิศาลอภิพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง เล่าว่า ปัจจุบันสินค้านี้กำลังเป็นที่นิยมในฮ่องกงอย่างมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบทดแทน

อาทิ เห็ด สาหร่าย ต่างก็ให้รสชาติแทนเนื้อสัตว์เพื่อสุขภาพได้ ปัจจัยความเชื่อจากอดีตมุ่งเน้นการกินเจ ซึ่งตลาดเจเติบโตมากถึง 5,300 ล้านเหรียญสหรัฐ

และความใส่ใจเรื่องสัตว์และสิ่งแวดล้อม รวมถึงความกังวลโรคอหิวาต์หมูทำให้รับประทานเนื้อหมูน้อยลง อีกทั้งราคาเนื้อจากพืชที่ฮ่องกงราคาถูกกว่าปกติอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ ฮ่องกงเริ่มก้าวมาเป็นผู้บริโภควีแกน ซึ่งจะเริ่มเห็นสินค้าจากสหรัฐเข้ามาวางจำหน่ายในร้านค้า อาทิ Beyond Meat ซึ่งเป็น startup ใหญ่ของ Silicon Valley จากสหรัฐ เข้ามาเปิดตลาดในฮ่องกง รองลงมาเป็น impossible meat

เน้นการบริโภคแทนเนื้อวัว เข้ามาขายในฮ่องกง ตามด้วย Green Monday ก่อตั้งโดยคนฮ่องกง ซึ่งมุ่งตลาดเอเชียเป็นหลักก็เริ่มขยายตลาดมากขึ้น ส่วนแบรนด์ไทยมีน้อยมาก แต่ที่เด่นชัด คือ แบรนด์ “นารา” โดยมีเมนูที่ได้รับความนิยม อาทิ ผัดกะเพรา

“ปัจจุบันร้านอาหารในฮ่องกงกว่า 80% แทบทุกร้านจะมีเมนูที่ทำจาก plant based meat อย่างน้อย 1 เมนู ตอนนี้เรียกได้เลยว่าเป็นเทรนด์ของคนฮ่องกง ช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้

จากที่ไม่คาดคิดว่าจะมีคนสนใจ แต่ทุกวันนี้มีอยู่แทบจะทุกเมนู ยิ่งมีโควิด คนฮ่องกงยิ่งหันมาใส่ใจสุขภาพ และคนฮ่องกงชื่นชอบอาหารไทย ยิ่งเดินทางมาไทยไม่ได้ ก็ยิ่งต้องการสินค้าไทย

น่าจะเป็นโอกาสผู้ประกอบการในการพัฒนาสินค้า plant based มากขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรฐานสากลอาหารฮ่องกงเข้มงวด ต้องศึกษากฎระเบียบทั้งมาตรฐานอาหารสากลและฉลากสินค้าให้ชัดเจน”

“ABOUTHAI” ชี้เทรนด์แรง

นางสาวกนกวรรณ เรืองฤทธิ์ ผู้ก่อตั้ง ABOUTHAI ร้านค้าปลีกสินค้าไทยที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2558 มีสาขา 26 สาขา กล่าวว่า ยอดขายของ plant based meat อยู่ที่ 20% ของสินค้าทั้งหมด ยังไม่รวมยอดขายที่ขายให้กับร้านอาหารต่าง ๆ เติบโตมากกว่าโมเดิร์นเทรด

อีกทั้งบรรดาร้านอาหารต่าง ๆ มีเมนูจากสินค้านี้เพิ่มขึ้น250% และยังมีความต้องการเพิ่มอีกถึง 50% จึงมองว่าตลาดนี้ยังไปได้อีกไกลทั้งนี้ กลยุทธ์การตลาด บริษัทอยู่ระหว่างวางแผนเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นอาหารไทยในเครื่องดื่ม และอาหารรสลาบ เพราะเป็นที่นิยมของชาวฮ่องกง

“สถานการณ์โควิดยิ่งทำให้ประชากรฮ่องกง 1 ใน 4 หันมาทาน plant based meat มากขึ้น สินค้าที่ขายดี คือ พืชทดแทนหมู เมนูเบอร์เกอร์ นักเก็ตรสต่าง ๆ ทางเรายังมองหาและเปิดรับสินค้าใหม่ ๆ จากผู้ประกอบการไทยอีกเยอะมาก

ผู้ส่งออกไทยต้องศึกษากฎระเบียบต่าง ๆ ให้พร้อม สินค้าที่จะนำเข้าที่นี่จะต้องระบุฉลากภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีน”

ด้าน Mr.Julio Chau Project Manager Brilliant Universal Ltd. ผู้บุกเบิกและก่อตั้ง Green Monday องค์กรใหญ่ในตลาดฮ่องกง กล่าวว่า เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นแกนในการทำธุรกิจ เดิมคนจีนบริโภคเนื้อหมู

คิดเป็นสัดส่วน 65% ของการบริโภคเนื้อสัตว์ทั้งหมด แต่การบริโภคมากขนาดนี้ส่งผลเสียต่อภาพรวมสิ่งแวดล้อม ดังนั้น Green Monday จึงมีผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อหมูที่ดีต่อสุขภาพหลากหลาย

“เทคนิคการทำตลาดนี้แนะนำว่า ผู้ประกอบการไทยต้องคำนึงวัตถุดิบว่า คุณเล่าเรื่องอย่างไร ถ้าผลิตภัณฑ์ของคุณมีรสชาติเหมือนเนื้อ เขาจะบอกลูกค้าว่ารสชาติเหมือนเนื้อ ถ้าสินค้าของคุณรสชาติไม่เหมือนเนื้อ เขาจะบอกลูกค้าว่า มันอร่อยกว่าเนื้อจริง”

ตลาดยุโรปแข่งเดือด

ขณะที่ นางสาวปิตินันทน์ สมานวรวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า มูลค่าขายปลีกเนื้อที่มาจากพืช

เติบโตที่สุดเป็นกลุ่มตลาดสหราชอาณาจักร สินค้าที่เป็นที่นิยมส่วนใหญ่จะทำเลียนแบบอาหารที่ทำรับประทานเป็นประจำ และส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่นำเข้าจากเอเชีย นำเข้าจากไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น ส่วนของไทยมีเพียงขนมกุยช่ายและเป็นวีแกน

“กระเเสในยุโรปมีค่อนข้างหลากหลาย มีการแข่งขันสูงในกลุ่มด้วยกันเองมากกว่าและด้วยกฎหมาย กฎระเบียบ การนำเข้ามายังยุโรป อัตราภาษี อาหารจำพวกนี้ไม่ได้สิทธิพิเศษอะไรดึงดูด

และที่สำคัญ พืชต้อง non-GMO ดังนั้น ส่วนใหญ่จะผลิตในยุโรปเอง โดยจะเห็นว่าประเทศสเปน ผลิตเนื้อเทียมค่อนข้างมาก ตามด้วย สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ พัฒนานวัตกรรมวิจัยด้านอาหารแข็งแกร่ง และมี startup มากที่สุด”

อย่างไรก็ตาม Beyond Meat จากสหรัฐอเมริกา ยังถือเป็นรายใหญ่ที่สุดในยุโรป ขณะที่กระแสตรงกันข้าม บางประเทศ อาทิ เดนมาร์ก อิตาลี กลับมาบริโภคเนื้อสัตว์แทน plant based จากในช่วงสถานการณ์โควิด-19

ผู้คนเกิดความเครียดจึงกลับมาบริโภคเนื้อจริงหรือแม้กระทั่งประเด็นข้อท้วงติง เรื่องสารอาหารใน plant based จากนักวิชาการ ทำให้สินค้านี้เป็นเพียงทางเลือกของชาวยุโรป

ขณะที่ราคาสินค้า plant based ในยุโรป ค่อนข้างไม่ได้มีมูลค่าเพิ่ม หรือแตกต่างจากการบริโภคเนื้อสัตว์ และมีการแข่งขันสูง กฎระเบียบของ EU เคร่งครัดในเรื่องอาหาร

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องพัฒนาสินค้าอาศัยจุดแข็งของไทย คือ “พืช” ต่อยอดสร้างโอกาสที่ดีทางธุรกิจ