ไม่ถึงขั้นมหาอุทกภัย “เตี้ยนหมู่” สลายตัว เร่งรับน้ำท่วม

พายุลูกที่ 15 “เตี้ยนหมู่ (Dianmu)” ที่พัดเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงระหว่างวันที่ 24-28 กันยายนที่ผ่านมา นอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ทางการเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดชัยภูมิ, นครราชสีมา, เพชรบูรณ์ และลพบุรีแล้ว พายุลูกนี้ยังได้สร้างความหวาดวิตกว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลจะเกิด “มหาอุทกภัย” อย่างที่เคยเกิดในปี 2554 หรือไม่อีกด้วย

ยันไม่เกิดมหาอุทกภัย

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลและสอบถามความเห็นไปยังผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำหลายท่าน พบว่า โอกาสที่ภาคกลาง รวมไปถึงกรุงเทพฯและปริมณฑล จะเกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยนั้น “มีความเป็นไปได้น้อย” จากเหตุผล 4 ประการด้วยกัน คือ 1) ปริมาณฝนตกไม่ได้มากและไม่ได้ตกติดต่อกัน เนื่องจากไม่มีพายุเข้าติดต่อกันอย่างต่อเนื่องหลายลูก

2) สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ของประเทศมีปริมาณน้ำ “ต่ำกว่า” ร้อยละ 50 ติดต่อกันมาหลายปี โดยปริมาณน้ำล่าสุดใน 4 เขื่อนหลักที่จะส่งผลกระทบต่อลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำรวมกันแค่ 11,969 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 48 ยังสามารถรับน้ำได้อีก 12,902 ล้าน ลบ.ม.

ดังนั้น ในขณะนี้จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง “พร่องน้ำ” เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554

3) หลังเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา กรมชลประทานได้มีการบริหารจัดการพื้นที่รับน้ำ หรือทุ่งรับน้ำ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงการจัดการตัดยอดน้ำตั้งแต่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา และ 2 ฝั่งตลอดแนวลำน้ำไปจนกระทั่งถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วยการควบคุมปริมาณน้ำเข้า-ออกผ่านทางประตูน้ำสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงไปในระดับหนึ่ง

และ 4) ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดระดับน้ำสำคัญ 2 แห่ง คือ สถานี C2 เขื่อนเจ้าพระยา กับสถานี C29A บางไทร ซึ่งเป็นสถานีสำคัญที่จะบอกได้ว่า จะมีน้ำท่วมกรุงเทพฯและปริมณฑลหรือไม่นั้น ในขณะนี้ยัง “ต่ำกว่า” ปริมาณน้ำไหลผ่านในช่วงมหาอุทกภัยในปี 2554 มาก

ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 28 กันยายน 2564 ที่สถานี C2 เขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,631 ล้าน ลบ.ม./วินาที น้ำได้ไหลผ่านจังหวัดชัยนาท-ลพบุรี-อ่างทอง-พระนครศรีอยุธยา จนกระทั่งมาถึงสถานี C29A บางไทร

ซึ่งถือเป็น “ด่านหน้า” ของกรุงเทพฯและปริมณฑลมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,311 ล้าน ลบ.ม./วินาที เปรียบเทียบกับปริมาณน้ำไหลผ่านของปีที่เกิดมหาอุทกภัยในปี 2554 ในตอนนั้นมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C2 สูงสุดอยู่ที่ 3,721 ล้าน ลบ.ม./วินาที ส่วนสถานี C29A อยู่ที่ 3,860 ล้าน ลบ.ม./วินาที

นั่นหมายความว่า ปริมาณน้ำไหลผ่านยังน้อยกว่า 1,090-1,549 ล้าน ลบ.ม./วินาทีตามลำดับ

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังมีการบริหาร “คลองลัดโพธิ์” ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทยด้วยการเร่งผลักดันน้ำตามจังหวะการขึ้น-ลงน้ำทะเล โดยประตูระบายน้ำที่คลองลัดโพธิ์สามารถร่นระยะทางการระบายน้ำจาก 18 กม. ลงเหลือแค่ 600 เมตร

ลดเวลาน้ำไหลผ่านจาก 5 ชั่วโมงลง เหลือแค่ 10 นาที และประตูระบายน้ำแห่งนี้ยังมีประสิทธิภาพระบายน้ำสูงสุดเฉลี่ย 45-50 ล้าน ลบ.ม./วินาทีด้วย ซึ่งจะช่วยเร่งผลักดันน้ำออกสู่ทะเลสามารถลดผลกระทบพื้นที่น้ำท่วมริมฝั่งเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลลงไปได้มาก

อย่างไรก็ตาม แม้โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ “มหาอุทกภัย” ซ้ำรอยปี 2554 จะเป็นไปได้น้อย แต่อิทธิพลของ “พายุเตี้ยนหมู่” ที่เข้ามาสลายตัวในประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมใหญ่เป็นวงกว้างในจังหวัดนครราชสีมา, ชัยภูมิ, เลย, เพชรบูรณ์, สุโขทัย, กำแพงเพชร

รวมไปถึงพื้นที่นอกคันกันน้ำในจังหวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยาในภาคกลางและกรุงเทพมหานคร แต่สถานการณ์น้ำท่วมจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ ก็เมื่อไม่มีพายุลูกใหม่พัดเข้าสู่ประเทศไทยอีก ตั้งแต่ระหว่างนี้ไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งใกล้จะหมดฤดูฝนแล้ว

อีสานเจอ 2 เด้ง

สำหรับสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กในพื้นที่เริ่มที่จะมีปริมาตรน้ำเต็มอ่างและมีความจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำออก อาทิ อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ในขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำเกินกว่า 80% ไปแล้ว

ได้แก่ เขื่อนจุฬาภรณ์ ปริมาตรน้ำ 168 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 103 ของความจุอ่าง, เขื่อนลำพระเพลิง 147 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 95, เขื่อนมูลบน 130 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 92, เขื่อนลำแชะ 229 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 83 และเขื่อนลำนางรอง 99 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 82

ด้าน นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย กล่าวว่า ตอนนี้เศรษฐกิจภาคอีสานได้รับผลกระทบหนัก ทั้งจากสถานการณ์น้ำท่วมและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยน้ำท่วมมีอยู่ 2 จังหวัดที่หนักที่สุด คือ จังหวัดชัยภูมิและนครราชสีมา ส่วนจังหวัดอื่นเป็นเพียงน้ำหลาก น้ำล้น ระบายไม่ทัน ภาพที่เห็นจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ปัญหาเรื่องน้ำท่วมช่วงนี้เรียกได้ว่าต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นหลัก

สำหรับเรื่องโควิด-19 แต่ละพื้นที่ยังมีการติดเชื้ออยู่ และผู้คนยังชะลอตัวเรื่องการจับจ่ายใช้สอยพอสมควร แต่เมื่อมาเจอเรื่องน้ำท่วมจึงทำให้ทุกอย่างชะลอตัว

น้ำท่วมยังไม่กระทบ ศก.ภาคกลาง

นายธวัชชัย เศรษฐจินดา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นในหลายจังหวัดภาคกลางขณะนี้ “ไม่น่าจะส่งผลกระทบหนัก” ให้เกิดน้ำท่วมใหญ่เท่ากับสถานการณ์น้ำท่วมปี 2554

เนื่องจากข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย และกรมชลประทาน ระบุว่า ปริมาณน้ำจากเขื่อนชัยนาทที่ระบายออกมาตอนนี้เพียง 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เทียบกับปี 2554 ปริมาณน้ำมากถึง 3,700 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น หากปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นไปที่ 2,400-2,500 ล้าน ลบ.ม. คิดว่าแต่ละพื้นที่ยังสามารถรับปริมาณน้ำดังกล่าวได้

“ตอนนี้คนไปรับข้อมูลข่าวสารในโลกโซเชียลแล้วไปโยงกับน้ำท่วมปี 2554 ทำให้เกิดความเป็นกังวล ทั้งที่เป็นข้อมูลข่าวสารที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ตอนปี 2554 เขื่อนใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ปริมาณน้ำล้นอ่างด้วย

แต่ปัจจุบันน้ำใน 2 เขื่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 40% ยังต้องการน้ำอีกมาก ถ้าเทียบข้อมูลกับปี 2554 ไม่น่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ น้ำท่วมตอนนี้เกิดจากพายุเตี้ยนหมู่เป็นพายุที่เข้ามาตามฤดูกาล และระบายผ่านไป ช่วงสัปดาห์หน้าพายุจะเคลื่อนจากพื้นที่ภาคกลางไปภาคใต้ ถึงจะมีพายุลูกใหม่เข้ามาจะไปภาคใต้มากกว่า”