ไทยยังเนื้อหอม ก.ย. 64 ต่างชาติ 29 ราย หอบเงิน 559 ล้านบาทลงทุน

นักธุรกิจ

พาณิชย์อนุญาตให้ต่างชาติลงทุนในไทย ก.ย. 64 รวม 29 ราย เงินลงทุน 559 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 742 คน

วันที่ 14 ตุลาคม 2564 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานให้ทราบว่าในการประชุมของคณะกรรมการฯเมื่อเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา ได้อนุญาตให้คนต่างชาติรวม 29 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ซึ่งนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 559 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 742 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน

สินิตย์ เลิศไกร

การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้ จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับความรู้พื้นฐานและกระบวนการทำงานทางเทคนิคของหน่วยกำจัดกำมะถันออกจากน้ำมันดีเซลโดยไฮโดรเจน องค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการกลั่นน้ำ หรือก๊าซ หรือน้ำมัน เพื่อเปลี่ยนน้ำเสีย หรือก๊าซ หรือน้ำมันดิบให้เป็นน้ำ หรือพลังงานสะอาด (The unique innovation and technology of Carrier Gas Attraction) และองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้งานโปรแกรมเชื่อมต่อระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล และโปรแกรมรวบรวมสถิติในห้องปฏิบัติการเพื่อนำมาวิเคราะห์และกำหนดกลยุทธ์การทำงาน เป็นต้น สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาตในเดือนกันยายน 2564 ได้แก่

1.ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 13 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ มีเงินลงทุนทั้งสิ้นจำนวน 114 ล้านบาท อาทิ

  • บริการให้ใช้สิทธิและให้ใช้ช่วงสิทธิในซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับกระบวนการทางการแพทย์ แก่โรงพยาบาล สถานพยาบาล ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ และผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์
  • บริการให้ใช้พื้นที่บนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นเพื่อการโฆษณา
  • บริการจองบัตรโดยสารรถโดยสารประจำทาง รถเช่า เรือโดยสารและสายการบิน ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

2. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ จำนวน 9 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น มีเงินลงทุนจำนวน 119 ล้านบาท อาทิ

  • การทำกิจการบริการทางบัญชีและกฎหมายแก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม
  • บริการสำรวจและวิเคราะห์ตลาด รวมทั้งประสานงานด้านการสั่งซื้อและส่งมอบสินค้า
  • บริการติดต่อ ประสานงานเพื่อการจำหน่ายสินค้าและการจัดส่งสินค้าที่ชำรุด (claim) แก่ผู้ซื้อ ในต่างประเทศ และบริการให้ใช้สิทธิและให้ใช้ช่วงสิทธิในงานออกแบบสินค้า และซอฟต์แวร์ เป็นต้น

3. ธุรกิจนายหน้า/ค้าส่งสินค้า จำนวน 4 ราย ซึ่งเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และอิตาลี มีเงินลงทุนจำนวน 156 ล้านบาท ได้แก่

  • การทำกิจการตัวแทนในการจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องจักรบรรจุสินค้า (Packaging Machinery) และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องสำหรับระบบบรรจุสินค้า ภายใต้เครื่องหมายการค้าที่ผลิตโดยบริษัทในเครือในต่างประเทศ
  • การค้าส่งสินค้าประเภทโพลิออลและเมทิลีนไดฟีนิลไดไอโซไซยาเนต สำหรับใช้เป็นส่วนประกอบของสารโพลียูรีเทนให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม
  • การค้าส่งสิ่งปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติสำหรับอาหารที่ผลิตโดยบริษัทในเครือในต่างประเทศ ให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

4. ธุรกิจบริการโดยเป็นคู่สัญญากับเอกชน จำนวน 3 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และเยอรมนี มีเงินลงทุนจำนวน 170 ล้านบาท ได้แก่

  • บริการออกแบบทางวิศวกรรม จัดหาวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งก่อสร้าง ประกอบ ติดตั้ง และทดสอบการทำงานของระบบ และบริการอื่นที่เกี่ยวข้อง สำหรับโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐาน ยูโร 5 (Ultra Clean Fuel (UCF) Diesel EURO V)
  • บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบ และการให้คำปรึกษาแนะนำทางเทคนิค รวมทั้งให้เช่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการบริการระบบบำบัดน้ำเสียแบบครบวงจร
  • บริการควบคุมการติดตั้ง ทดสอบการทำงานและควบคุมการเดินเครื่องของเครื่องจักรที่ใช้สำหรับปั่นเส้นใย (PET Staple Fiber Spinning Lines) และเครื่องจักรที่ใช้สำหรับดึงเส้นใย (PET Staple Fiber Drawing Lines) ในสายการผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ รวมถึงการซ่อมแซมเครื่องจักรดังกล่าวในช่วงรับประกันผลงาน

สำหรับเดือนกันยายน 2564 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไป รองลงมาเป็นธุรกิจการให้บริการแก่บริษัทในเครือในกลุ่ม ธุรกิจนายหน้า/ค้าส่งสินค้า และธุรกิจบริการโดยเป็นคู่สัญญากับเอกชน ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่เป็นการประกอบธุรกิจเพื่อสนับสนุนธุรกิจหลักที่ทำอยู่แล้ว ซึ่งใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก จำนวน 20 ราย คิดเป็นร้อยละ 69 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาตทั้งหมดของเดือนนี้

นับตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2564 รวม 9 เดือน มีนักลงทุนต่างชาติได้รับอนุญาตให้เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยแล้วจำนวน 161 ราย รวมเงินลงทุน 9,943 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ

– ธุรกิจบริการเป็นที่ปรึกษา บริหารจัดการ และให้บริการเดินรถและซ่อมแซมบำรุงรักษารถไฟความเร็วสูง ภายใต้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินในประเทศไทย

– ธุรกิจบริการออกแบบทางวิศวกรรม วางระบบและทดสอบเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับโครงการ ศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าอัจฉริยะระหว่างประเทศ

– ธุรกิจบริการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านประกันภัย

– บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center : IBC) ให้แก่บริษัทในเครือในต่างประเทศ

– บริการให้ใช้สิทธิและให้ใช้ช่วงสิทธิในซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับกระบวนการทางการแพทย์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ชาวต่างชาติจะยังคงเดินทางเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องบรรยากาศที่ดีเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติ รวมถึงมีมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็งในการรับมือกับโรคโควิด-19 ซึ่งสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้เป็นอย่างดี