ส่งออกไทยไปสหรัฐโต 2 หลัก

สหรัฐ

จากคำถามที่ว่า ปีหน้าเศรษฐกิจสหรัฐจะกลับสู่ปกติก่อนโควิด-19 หรือไม่นั้น “นางขวัญนภา ผิวนิล” ผู้อำนวยการส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ประจำลอสแองเจลิส สหรัฐ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐที่ต้องจับตามองคือ เรื่องปัญหาแรงงาน ซึ่งมีโอกาสจะเกิด “อัตราการว่างงานท่ามกลางภาวะขาดแคลนแรงงาน” ขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม คำว่าอัตราว่างงานท่ามกลางการขาดแคลนแรงงาน “อาจจะฟังดูแปลก” แต่ท่านทูตเล่าย้อนให้ฟังไปสู่จุดก่อนที่จะเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ถือเป็นจุดที่อัตราการว่างงานสหรัฐต่ำสุดในรอบหลายสิบปี เป็นจุดที่ดีสุดของสหรัฐ ดังนั้นกว่าที่สหรัฐจะกลับไปสู่จุดนั้นได้คงต้องใช้เวลาพอสมควร

“ปัญหาของสหรัฐก็คือ การขาดแคลนแรงงาน ท่ามกลางการว่างงาน เพราะอัตราการว่างงานยังสูง ขณะที่ภาคธุรกิจจำนวนมากจะบ่นว่า ขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะภาคบริการ ค้าปลีก ร้านอาหาร ติดป้ายต้องการรับสมัครคนงานทั้งหมด กระทั่งร้าน outlet ที่เคยปิด 2-3 ทุ่ม แต่ตอนนี้ 5 โมงเย็นก็ต้องปิดแล้วเพราะไม่มีคนงาน” นางขวัญนภากล่าว

3 ปมแรงงานสหรัฐ

1) มีคำศัพท์ตอนนี้ว่า “miss match” หมายถึง กลุ่มที่ตกงานคือ แรงงานฝีมือ เป็นแรงงานวิชาชีพค่อนข้างเยอะที่ไม่สามารถหางานกลับมาได้เหมือนเดิม พวก “ไวต์คอลลาร์” รายได้สูง บริษัทปิดไม่สามารถกลับมาหา

2) แรงงานกลุ่มนี้เกิด high expectation คือ ความคาดหวังสูงประมาณว่า “เหมือนสวยเลือกได้” คาดหวังว่า ค่าตอบแทนต้องมากขึ้น สวัสดิการต้องดีขึ้น ล่าสุดสัปดาห์ที่แล้ว มีข่าวว่า worker ในฮอลลีวูดมีการประท้วง เพราะต้องการเรียกร้องค่าแรงและสวัสดิภาพที่ดีขึ้น เวลาพักผ่อนที่เพียงพอมากขึ้น แรงงานมีอำนาจต่อรองและเทรนด์คนเจน Z มีความต้องการเปลี่ยนงานสูง คนรุ่นใหม่ต้องการทำงานอิสระมากขึ้น ชอบสบายไม่ชอบทำงานตามตารางเวลา

และสาเหตุที่ 3) มีอีกกลุ่มที่สามารถทำงานแบบเป็นรีโมตได้ เมื่อโควิด-19 มา กลุ่มนี้สามารถทำงานจากทางไกลได้ แต่ก็มีอีกกลุ่มคือที่ออกไปเลย คือออกไปอยู่ที่เมืองเล็ก ๆ หรือต่างประเทศที่ค่าครองชีพต่ำลง ชีวิตครอบครัวดีขึ้น แล้วทำงานทางไกลรีโมต ซึ่งทำให้เกิดความเป็นเมือง (urbanization) เมืองเล็กขยายตัวมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นแรงงานทำให้ธุรกิจต้องปรับตัว เช่น ธุรกิจต้องใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีมากขึ้นหรืออาจจะต้องปรับว่า ทำอย่างไรจะสามารถรักษาคนงานไว้ได้ ต้องไปหาทิศทางวิธีการทำอย่างไรให้คนงานรู้สึกอยากทำงานที่นี่และอยากอยู่ต่อ ข้อจำกัดตอนนี้คือ ธุรกิจทุกธุรกิจจะมีต้นทุนแพงขึ้นเพราะค่าแรงต้องปรับตัวสูงขึ้นแน่นอน ฉะนั้น ค่าแรงต้องปรับอัตโนมัติ

ร้านอาหารไทยในสหรัฐ

ธุรกิจบริการที่ต้องใช้คนจำนวนมากอย่างธุรกิจ “ร้านอาหารไทย” ช่วงนี้กลับมาเปิดได้เป็นปกติแล้ว แต่มีร้านอาหารหายไป 10-20% โดยส่วนที่กลับมาเปิดก็ต้องประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เจ้าของร้านต้องลงมาทำเอง ล้างจานเอง เพราะแม้ว่าจะให้เงินเดือนเพิ่มก็ยังหาคนไม่ได้ เช่น ลงทุนโฆษณามีคนมาสมัครแค่ 1 คน ซึ่งคุณสมบัติก็ไม่ผ่านอีก

“มีเคสแมคโดนัลด์แถวแซนดิเอโก (ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่ตั้งอยู่ที่บริเวณชายฝั่งแปซิฟิก ตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย) ที่ต้องการคนถึงขนาดให้เงินคนที่มาสมัครงาน (วอล์กอิน) เข้ามาสัมภาษณ์ด้วย” นางขวัญนภากล่าว

จับตาไบเดนปรับค่าแรง

ด้านประธานาธิบดีไบเดนมีนโยบายปรับค่าแรงงานขั้นต่ำส่วนกลาง 15 เหรียญสหรัฐ/ชั่วโมง หรือปรับขึ้นเท่าตัว จากปกติที่ 7.5 เหรียญสหรัฐ/ชั่วโมง ซึ่งบางรัฐมีการใช้ national rated ถ้ารัฐไหนที่สูงกว่าก็ใช้เรตนี้ของรัฐ เช่น แคลิฟอร์เนียจะขยับไปเป็น 14-15 เหรียญ แต่หลายรัฐค่าแรงก็ต่ำกว่านี้

แต่ถ้าประธานาธิบดีไบเดนประกาศปรับฐานค่าแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศก็จะทำให้มลรัฐที่มีอัตราค่าแรง “ต่ำกว่าค่ากลาง”ต้องปรับค่าแรงใหม่ตาม ซึ่งถือว่ามีเอฟเฟ็กต์มหาศาลเหมือนกัน โดยเฉพาะ “ค่าครองชีพรัฐที่ต่ำ” ก็ต้องปรับสูงขึ้นโดยปริยาย

สำหรับภาพรวมการส่งออกของไทยปีนี้ตั้งเป้าหมาย 6% แต่จนถึงขณะนี้ “โตแบบดับเบิลดิจิตแล้ว” ส่วนแนวโน้มการส่งออกปี 2565 เริ่มเห็นภาพระดับหนึ่งแล้ว แม้ว่าการส่งออกจะโต 2 หลัก แต่ยังไม่ปรับเป้าหมาย เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องรอดูทั้งฝั่งดีมานด์ไซด์และซัพพลายไซด์ เราหวังว่าปีหน้าสถานการณ์คงคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นมากกว่าปีนี้อีก