“เลิศวิโรจน์” ปลัดใหม่เกษตรฯ เปิดแผนยกระดับเกษตรไทยสู่ 4.0

การที่รัฐบาลประกาศให้ประเทศไทยก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งรวมถึงภาคเกษตรด้วย “ประชาชาติธุรกิจ” จึงถือโอกาสสัมภาษณ์ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรฯคนใหม่ถึงแผนงานระยะสั้น-กลาง-ยาว การบริหารจัดการน้ำ การปรับโครงสร้างสหกรณ์ เพื่อยกระดับในอาชีพดังต่อไปนี้

Q : ภารกิจหลักและแผนงานระยะสั้น-กลาง-ยาว

ปี 2561 จะเป็นปีแห่งการพัฒนาคนและยกระดับการบริหารจัดการซึ่งเป็นเป้าหมายที่กระทรวงเกษตรฯผลักดัน ต้องมุ่งเน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยี ความสมดุลปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและแปรรูป รวมทั้งแผนแก้ปัญหาเร่งด่วน ส่วนระยะกลางจะเป็นเรื่องของเกษตร 4.0 ในช่วงปี 2562-2564 ลดช่องว่างระหว่าง 1.0-4.0 ให้เกษตรกรมีรายได้ การบริหารจัดการจะทำอย่างไรให้ใช้พื้นที่ 149 ล้านไร่ ให้มีผลผลิตต่อไร่สูง ทำเกษตรในพื้นที่ที่เหมาะสมกับ zoning หนี้ลด คุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่วนแผนระยะยาวเป็นการพัฒนาเกษตรและสหกรณ์ 20 ปี มุ่งเน้นแก้ไขจุดอ่อนและเสริมจุดแข็ง

งานเร่งด่วนปี 2561-2562 ที่เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำ รัฐบาลจะเร่งทำโครงการขนาดใหญ่ที่จะแก้ปัญหาทั้งน้ำท่วมน้ำแล้ง จำนวน 476 โครงการ งบประมาณ 6.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งในปี 2561 มีจำนวน 44 โครงการ งบประมาณ 8 พันล้านบาท และจะปรับแผนปี 2562 มาทำในปี 2561 คือทำให้เกิดเร็วขึ้น จำนวน 304 โครงการ งบประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท

และ ในปี 2562 มีจำนวน 128 โครงการ งบประมาณ 3.48 หมื่นล้านบาท โดยจะเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ได้ 2.01 ล้านไร่ เพิ่มน้ำต้นทุน 2,926 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งผลงานรูปธรรมที่เห็นได้ชัดคือ ปริมาณน้ำมากกว่าที่ผ่านมา 4 เท่า เช่นการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ 3 ปี สามารถเพิ่มน้ำต้นทุนได้ 1,005 ล้าน ลบ.ม. และมีพื้นที่เข้าถึงแหล่งน้ำได้มากขึ้น 1.59 ล้านไร่ เท่ากับผลงานของรัฐบาล 12 ปีที่ผ่านมา

Q : การบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสม

การบริหารจัดการน้ำประกอบไปด้วย 6 ยุทธศาสตร์ 1.ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.ยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) 3.ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.ยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพน้ำ 5.ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพัง ทลายของดิน 6.ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ ซึ่งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) นำแผนดังกล่าวไปปฏิบัติทั้งน้ำอุปโภคบริโภค น้ำท่วม น้ำแล้ง คุณภาพน้ำ และพื้นที่ป่าต้นน้ำ

โดยเป้าหมายสำคัญคือ จะสามารถเพิ่มประปาหมู่บ้าน 7,479 แห่ง ประปาโรงเรียน 6,132 แห่ง ครบทุกแห่งในปี 2564 เพิ่มน้ำต้นทุน 8,420 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะดำเนินการโดยชลประทาน พร้อมทั้งขยายพื้นที่ชลประทาน 8.70 ล้านไร่ ส่วนการดำเนินการของกระทรวงเกษตรฯจะเน้นแผน Agi-map เพื่อดูความเหมาะสมของพื้นที่เกษตร โดยเราจะพิจารณาทั้งดิน น้ำ ตลาด โรงงาน และผลักดันศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ให้เข้มแข็งเพื่อให้ทำเกษตรโดยใช้ Agri-map เข้าช่วย เป็นเครื่องมือนำทางเกษตรแปลงใหญ่

Q : การจัดตั้งสำนักงานน้ำและบุคลากร

ล่าสุด ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ขึ้นเป็นอธิบดีกรมชลประทาน และท่านนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ท่านสมเกียรติ ประจำวงษ์ ไปทำหน้าที่ดูภาพรวมน้ำทั้งประเทศ ทั้งสองท่านมีความแตกต่างที่เป็นข้อดี ท่านสมเกียรติจะดูภาพรวมของกรมชลประทานมาตลอด ทั้งเรื่องแผนพัฒนาแหล่งน้ำ เป็นคนทำยุทธศาสตร์น้ำ ส่วนคนที่กำลังทำงานและทำได้ดีก็มีท่านทองเปลวที่แม่นยำเรื่องการบริหาร จัดการน้ำ และมีรองอธิบดีเพิ่งแต่งตั้งใหม่สองท่านเหมาะสมที่สุดแล้ว ก็คิดว่าการบริหารจัดการน้ำเราคุยกันมาตลอดทั้งการจัดปฏิทินเพาะปลูกใหม่ การพร่องน้ำ การเตรียมพื้นที่รับน้ำเป็นสิ่งที่เราเน้นและเตรียมมาโดยตลอด ซึ่งท่านอธิบดีทองเปลวทราบเรื่องนี้ดี ท่านจะสามารถบริหารงานได้อย่างต่อเนื่อง

Q : ความก้าวหน้าปรับระบบสหกรณ์

นับแต่ปี 2559 เริ่มต้นนโยบายยกระดับความเข้มแข็งสหกรณ์ ท่านนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้พัฒนาสหกรณ์เพื่อช่วยขับเคลื่อนนโยบาย โดยได้ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์วิเคราะห์และกำหนดเกณฑ์ระดับมาตรฐานสหกรณ์และ ประเมินสถานภาพ แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ปีหน้า 2561 จะยกระดับสหกรณ์นอกภาคเกษตรและในภาคเกษตรทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์ เครดิตยูเนี่ยน และสหกรณ์ภาคเกษตร รวมถึงคัดเลือกสหกรณ์ที่มีศักยภาพมาขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ เช่น ธนาคารสินค้าเกษตร ส่งเสริมอาชีพจากการจัดสรรที่ดิน สปก. การผลิตข้าวครบวงจร ตลาดสินค้าเกษตร และ 1 โครงการสหกรณ์การเกษตร 1 หอการค้า ด้วยกลไกประชารัฐ ที่สำคัญคือพัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ให้เป็น smart officer

Q : พ.ร.บ.พันธุ์พืช-การใช้สารเคมี

ที่ผ่านมาปัญหาข้อติดขัดการปรับแก้ไขคือ เพื่อคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรเมื่อ เทียบกับหลายประเทศในอาเซียน จึงยังไม่ส่งเสริมการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย รวมถึงการคุ้มครองพันธุ์พืชทั่วไปไม่สอดคล้องกับวิธีปฏิบัติการศึกษาทดลอง วิจัยและปรับปรุงพันธุ์พืช จึงเป็นอุปสรรคและไม่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งการขึ้นทะเบียนชุมชน ผู้อนุรักษ์ นักพัฒนาพันธุ์พืชไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ชุมชนขอเงินทุนไม่ได้ ประกอบกับการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช ล่าช้า ดังนั้นการแก้ไขปรับปรุงจึงเพื่อปรับมาตรฐานสอดคล้องตามหลักสากล แก้ไขขั้นตอนข้อติดขัด ดำเนินงานให้เหมาะสมกับปัจจุบัน

ส่วนการใช้สารเคมี กรมวิชาการเกษตรได้จัดประชุมทั่วประเทศ มีทั้งเห็นด้วยกับกระทรวงสาธารณสุข และไม่เห็นด้วย เพราะหากใช้ด้วยความระมัดระวังจะไม่เกิดอันตราย หากห้ามใช้เกษตรกรจะได้รับผลกระทบต้นทุนการผลิต นอกจากจะมีสารที่มาทดแทนก็ยินดีลด ละ เลิกใช้ ซึ่งล่าสุดได้เสนอต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณาและกำหนดมาตรการควบคุม แต่เนื่องจากข้อมูลด้านสุขภาพยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ขณะนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการกำลังรวบรวมเอกสาร หากพิจารณาแล้วมีมติว่าเป็นอันตรายต้องห้ามผลิต นำเข้า และส่งออก ขาย ทันที

Q : ปัญหาราคาสินค้าเกษตร

จริง ๆ แล้วการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรเป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์ เกษตรฯเราดูแลเรื่องผลิตซึ่งดำเนินการตามนโยบายทั้งการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต และเกษตรแปลงใหญ่ การทำเกษตรให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่แบบ agri-map

Q : ผลสอบผู้ว่าฯ กยท.

ส่วนผลการตรวจสอบผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ต้องขอเวลาอีก เพราะการรายงานยังไม่ครอบคลุม ติดขัดในบางข้อที่ต้องตรวจสอบอีกครั้ง ตรงนี้เราต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ว่าฯ ซึ่งเราต้องตรวจสอบให้ชัดเจนด้วย

Q : สานต่อพระราชปณิธานในหลวง ร.9

กระทรวงเกษตรฯได้วางแนวทางสืบสานงานโครงการพระราชดำริ ใน 6 ข้อ คือ 1.พัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2.ดำเนินงานโครงการศึกษาและพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 3.ขยายผลและพัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน 4.การปฏิบัติการฝนหลวงและการบินเกษตร 5.ดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มี ชีวิต และ 6. โครงการ “5 ประสาน” สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ถวายในหลวง โดย ปี 2561 ได้วางแผนขับเคลื่อนโดยตั้งเป้าเกษตรกรเข้าร่วมอีก 70,000 ราย และส่วนตัวได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน หลักการพอประมาณ มีเหตุผล รับผิดชอบต่อหน้าที่ เพื่อเกษตรกรและข้าราชการเจ้าหน้าที่ในกระทรวง