ศุภชัย เจียรวนนท์ วิเคราะห์ปัจจัยบวกเศรษฐกิจไทยปี’65

ศุภชัย เจียรวนนท์

หลังกลับจากเทศกาลปีใหม่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอนมีทีท่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจาก 3,000 คน เป็น 5,000 คนต่อวัน มีการคาดการณ์ว่าผู้ติดเชื้ออาจจะเพิ่มขึ้นถึง 1 แสนในไม่ช้า ภาคธุรกิจต่างจับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดแผนธุรกิจในปี 2565 ว่าจะเดินต่อไปในทิศทางใด โดย “นายศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่า

มองบวกมากกว่าลบ

ปีนี้จะเป็นปีที่โลกเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยมีปัจจัยด้านบวกเกิดขึ้นมากกว่าด้านลบ ประการแรกนั้นคือ ความคาดหวังในมุมบวกว่าโควิดกลายพันธุ์ตัวใหม่ คือ โอมิครอนนั้นน่าจะเป็นวัคซีนธรรมชาติที่สามารถยุติการแพร่ระบาดของโควิดทั้งโลกได้ อย่างไรก็ตาม โอมิครอนมีการขยายตัวที่รวดเร็ว แม้อาการไม่รุนแรงก็ต้องระมัดระวัง รัฐบาลควรเร่งฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง

ประการต่อมา ที่เป็นปัจจัยบวก คือการที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั่วโลกให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ climate change โดยถือเป็นวาระสำคัญของโลกนั้นจะก่อให้เกิดการปรับภูมิทัศน์ใหม่ในการค้าการลงทุนของทั้งภาครัฐและเอกชนสู่การพัฒนาเป็น “เศรษฐกิจใหม่”

เศรษฐกิจใหม่สู่ความยั่งยืน

แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจนี้มีกระบวนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานไปสู่วิถีแห่งความยั่งยืน (sustainability) เช่น พลังงานทดแทน รถระบบไฟฟ้า แบตเตอรี่ การผลิตที่นำกลับมาใช้ใหม่ หรือ recycle production การบริหารจัดการของเสีย หรือ waste management เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีแรงขับเคลื่อนที่สำคัญอีกหลายเรื่องในปี 2565 ซึ่งจะส่งผลในมุมบวกต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย เช่น การปรับตัวของเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ทุกอุตสาหกรรมต้องเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (digital transformation) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ เช่น 5G, IOTs, AI, smart living, รถไฟความเร็วสูง ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นแรงบวกที่มีพลังสูงและยั่งยืนต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2565

ย้ำดันไทยฮับอาเซียน

สำหรับในส่วนประเทศไทยนั้นถือว่ามีศักยภาพมาก เนื่องจากอยู่ในศูนย์กลางภูมิภาคเอเชียที่มีตลาดรองรับมากกว่า 4,700 ล้านคน หรือ 60% ของประชากรโลก โดยเฉพาะ ASEAN จีน และอินเดีย ก็มีจำนวนประชากรกว่า 3,400 ล้านคน ถือเป็นตลาดที่มีโอกาสในการเติบโตมาก เนื่องจากประเทศเหล่านี้ยังมีรายได้เฉลี่ยต่อคน หรือ per capita income ในอัตราต่ำ และระบบเศรษฐกิจยังเติบโตได้อีกมาก

ซึ่งต่างจากตลาดในอเมริกา ยุโรป หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้จึงมองว่าภูมิภาคเอเชียเป็นตลาดสำคัญที่สุดที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

“ถ้าประเทศไทยกำหนดยุทธศาสตร์วางตัวเองเป็นศูนย์กลาง เช่น ด้านอาหาร สุขภาพ การขนส่ง การเงิน ดิจิทัล และเทคโนโลยี เราจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้แน่นอน”

แนะแนวทางปลุกเศรษฐกิจ

เราต้องส่งเสริมคนรุ่นใหม่ และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ startup ทั้งด้านเทคโนโลยี (tech) และด้านที่ไม่ใช่เทคโนโลยี (nontech) เพื่อช่วยเราขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กับการตอบโจทย์การขับเคลื่อน inclusive capital

โดยมีความมั่นใจว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์พัฒนาคนของภูมิภาคนี้ได้ ซึ่งไม่ใช่แค่ระดับนักศึกษา และนอกจากนี้เชื่อว่าประเทศไทยสามารถรองรับผู้คนได้จากทั่วโลก เพราะค่าครองชีพของไทยถูกกว่าสิงคโปร์ และยังมีคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีตรงกับความต้องการของทุกชาติ

ความท้าทาย “เงินเฟ้อ”

อย่างไรก็ดี ในปีนี้ยังมีความท้าทายที่สำคัญกับเศรษฐกิจ คือ เรื่อง hyperinflation หรืออัตราเงินเฟ้อสูง ซึ่งเป็นปัจจัยที่นักลงทุนกังวลรวมถึงผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก (geopolitics) ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องวิกฤตการณ์อาหารและพลังงาน การก่อตัวของฟองสบู่คริปโท แต่ในท่ามกลางวิกฤตนี้กลับพบว่ามีการเพิ่มทุนมหาศาลเพื่อรองรับเศรษฐกิจ แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิดในทุกมุมทั่วโลกก็ตาม

การเมืองมีผลต่อธุรกิจ

และมุมมองอีกเรื่องที่ส่งผลด้านลบต่อเศรษฐกิจไทย คือ ปัจจัยการเมืองในประเทศที่อาจทำให้การตัดสินใจทางภาครัฐชะลอตัวลง

“โดยส่วนตัวมีความเห็นว่านโยบายและการปรับตัวของประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างงานสร้างโอกาสของประเทศต้องต่อเนื่องและจะหยุดรอการเลือกตั้งไม่ได้ ที่ดีคือยิ่งต้องเร่งตัดสินใจ”