ลุ้น “พาณิชย์” เปิดทางนำเข้าหมูเพื่อนบ้าน หลังไทยพบโรค ASF

“ประภัตร” ลุ้น พาณิชย์ให้นำเข้าหมูเพื่อนบ้าน ชี้ไทยพบโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ไม่กระทบส่งออก เพราะปริมาณหมูในประเทศไม่พอเพื่อการส่งออกอยู่แล้ว

วันที่ 11 มกราคม 2565 นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้เร่งดำเนินการช่วยฟื้นฟูอาชีพให้เกษตรกรรายย่อย ผู้เลี้ยงหมูในภาคเหนือ และภาคอีสาน ตามคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ขณะที่กรมปศุสัตว์ก็พบการระบาดของโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) แล้วที่จังหวัดนครปฐม ที่ผ่านมาในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ก็ได้รับรายงานการเกิดโรคไม่ต่างกับสื่อมวลชน

อธิบดีปศุสัตว์ยอมรับเป็นทางการครั้งแรก พบโรค ASF ในหมู
ครม. เคาะงบฉุกเฉิน 574.11 ล้าน แก้ปัญหาอหิวาต์แอฟริกาในหมู ทุกพื้นที่

ดังนั้นหลังจากมีการป่วยตายของหมู ทำให้ราคาหมูในประเทศแพง

“เสนอกระทรวงพาณิชย์ให้มีการนำเข้าหมูมาบริโภคภายในประเทศก่อน หลังจากที่ หมูไทยหายจากระบบ เบื้องต้น สามารถนำเข้าหมูจากเพื่อบ้านในราคาถูกได้ภายใน 3 วัน ขอเพียงแต่กระทรวงพาณิชย์อนุมัติการนำเข้าเท่านั้น ส่วนที่พบเอเอสเอฟในไทย เบื้องต้นคงไม่กระทบการส่งออกเพราะ ขณะนี้หมูไทยไม่เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ ไม่มีให้ส่งออกแล้ว ”

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันที่ 11 ม.ค.2564 เป็นวันแรกที่กระทรวงเกษตรฯโดยกรมปศุสัตว์ประกาศว่ามีการพบโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) หลังจากมีการแพร่ระบาด 3 ส.ค. 2561 ปัจจุบันทั่วโลกพบการระบาดไปแล้ว 38 ประเทศ เป็นประเทศในทวีปยุโรปจำนวน 13 ประเทศ ทวีปแอฟริกา 8 ประเทศ ทวีปเอเชียจำนวน 15ประเทศทวีปอเมริกา 1 ประเทศ และประเทศแถบโอเชียเนียจำนวน 1 ประเทศ

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2564 พบการระบาดของโรค คือ ราชอาณาจักรภูฏาน รวมทั้งยังพบการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย ได้แก่ สปป.ลาว ,กัมพูชา ,เมียนมา และ มาเลเซีย ส่งผลให้ไทยเสี่ยงสูงขึ้นในพื้นที่ 244 อำเภอ ใน 56 จังหวัด

ไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจำนวน 182,272 ราย เป็นเกษตรกรรายย่อย 184,091ราย เลี้ยงสุกรขุน 2,246,332 ตัว สุกรพันธุ์ 390,993  ตัว ลูกสุกร 689,562  ตัว เป็นเกษตรกรรายใหญ่ 3,181ราย เลี้ยงสุกรขุน 5,746,265ตัว สุกรพันธุ์ 683,996ตัว และลูกสุกร 1,532,035 ตัว

กระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งสมมติฐานไว้ 4 กรณี  ดังนี้ คือ กรณีเกิดโรคระบาด 30% ของสุกรที่เลี้ยง จะเกิดความสูญเสียสำหรับเกษตรกรรายย่อยจำนวน 5,133.88 ล้านบาท เกษตรกรรายใหญ่จำนวน 11,544.61 ล้านบาทรวม 16,678.49 ล้านบาท ,กรณีเกิดโรคระบาด 50% ของสุกรที่เลี้ยง จะเกิดความสูญเสียสำหรับเกษตรกรรายย่อยจำนวน 8,556.47 ล้านบาท เกษตรกรรายใหญ่จำนวน 19,236.24 ล้านบาทรวม 27,792.72 ล้านบาท

กรณีเกิดโรคระบาด 80% ของสุกรที่เลี้ยง จะเกิดความสูญเสียสำหรับเกษตรกรรายย่อยจำนวน 13,690.36 ล้านบาท เกษตรกรรายใหญ่จำนวน 30,777.99 ล้านบาทรวม 44,468. 35 ล้านบาท และกรณีเกิดโรคระบาด 100% ของสุกรที่เลี้ยง จะเกิดความสูญเสียสำหรับเกษตรกรรายย่อยจำนวน 17,112.95 ล้านบาท เกษตรกรรายใหญ่จำนวน 38,472.49 ล้านบาท รวม 55,585.44 ล้านบาท

ส่วนผลกระทบด้านเศรษฐกิจ หากถูกระงับการส่งออกเนื้อสุกรชำแหละ เนื้อสุกรแปรรูป เป็นมูลค่าปีละประมาณ 6,000  ล้านบาทสูญเสียโอกาสการส่งออกสุกรมีชีวิต เป็นมูลค่าปีละประมาณ 16,000 ล้านบาทโดยประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา มูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มูลค่าประมาณ 1,700 ล้านบาท สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา มูลค่าประมาณ700 ล้านบาท และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มูลค่าประมาณ 3,400 ล้านบาท

ส่วนด้านธุรกิจอาหารสัตว์ 66,666 ล้านบาท, ด้านธุรกิจเวชภัณฑ์ 3,500 ล้านบาทผลกระทบด้านราคาสุกรขุนมีชีวิตภายในประเทศ เนื่องจากผู้บริโภคเกิดความตื่นตระหนกทำให้ราคาลดลง ดังนี้ ราคาลดลงกิโลกรัมละ 10 บาท ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ปีละ 22,000 ล้านบาท ราคาลดลงกิโลกรัมละ 20 บาท ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ปีละ 44,000 ล้านบาท ราคาลดลงกิโลกรัมละ 30 บาท ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ปีละ 66,000 ล้านบาท