“อินโนบิก” ลุยเมดิคอลฟู้ดปี’65 ผุดแฟลกชิปสโตร์-รง.โปรตีนพืช “อยุธยา”

“อินโนบิก” ปักหมุด “อยุธยา” ตั้งโรงงานผลิตแพลนต์เบส 3 พันตัน พร้อมเปิดแฟลกชิปสโตร์เดือน มี.ค.นี้ เดินหน้าสู่เป้าหมายปั๊มกำไร EBITDA ธุรกิจใหม่ให้ได้ 30% ใน 10 ปี พร้อมผนึกพันธมิตรลุยไลน์ life science เตรียมปิดดีล เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น บ.ยาไต้หวัน “Lotus Pharmaceutical” ในไตรมาส 1

นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2565 บริษัทมุ่งในธุรกิจอาหารเพื่อโภชนการและโภชนเภสัช (เมดิคอลฟู้ดส์) ทั้งอาหารอนาคตและอาหารผู้ป่วย แบบ UHT เพราะไทยมีศักยภาพ และสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริม BCG

โดยในส่วนของธุรกิจอาหารอนาคตนั้น หลังจากที่บริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟโปรตีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างอินโนบิก และบริษัท โนฟฟู้ดส์ จำกัด ได้บรรลุข้อตกลงกับบริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศอังกฤษ เพื่อผลิตโปรตีนจากพืช (plant based) เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ล่าสุดทางบริษัทได้พิจารณาเลือกตั้งโรงงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมใน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยอยู่ระหว่างออกแบบการก่อสร้างโรงงานขนาด 3,000 ตันต่อปี และเตรียมจะเปิดแฟลกชิปสโตร์ภายในเดือนมีนาคมนี้ และจะเริ่มก่อสร้าง คาดว่าจะสามารถพัฒนาสินค้าออกมาในไตรมาส 1-ไตรมาส 2 ปีหน้า

“เดิมบริษัทที่เราร่วมลงทุนคือโนฟฟู้ดผลิตวัตถุดิบแพลนต์เบส แต่สำหรับโรงงานใหม่เราวางว่าจะมีการจัดทำ cooking class ด้วย เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถนำสินค้านี้ไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารได้ สำหรับสินค้าลอตแรกจะทดลองผลิตออกมาเป็นลอตเล็ก ๆ ก่อนในปีนี้ เบื้องต้นจะใช้วัตถุดิบซึ่งเป็นเพลสจากถั่วเหลืองที่มาแล้วมาใช้ แต่จริง ๆ เราพยายามจะหาวัตถุดิบในประเทศด้วย เช่น ถั่วเขียวและพืชอื่น ๆ แต่ถั่วเหลืองก็ยังเป็นวัตถุดิบหลัก เพราะมีโปรตีนสูงและราคาก็ไม่สูงมาก แต่หากในอนาคตสามารถพัฒนาเนื้อสัมผัสถั่วเขียวได้อาจจะมีการผสมผสาน”

สาเหตุที่มุ่งขยายธุรกิจอาหารซึ่งเป็น 1 ใน 4 กลุ่มธุรกิจเป้าหมายของอินโนบิก (ยา, อาหารอนาคต, วัสดุและอุปกรณ์การแพทย์ และระบบวินิจฉัยโรค) ก่อน เพราะมองว่าตลาดแพลนต์เบสมีการขยายตัวสูงปีละ 10-15% และปัจจุบันผู้บริโภคสินค้านี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มมังสวิรัติ (วีแกนส์) แต่มีผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่มีความยืดหยุ่นบริโภคอาหารสุขภาพสลับ ๆ กับเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดนี้เติบโตขึ้น จากเดิมกลุ่มวีแกนส์มีแค่ 10%

อย่างไรก็ตาม อินโนบิกยังมีการผลักดันธุรกิจยา ซึ่งในไตรมาส 1 ปี 2565 นี้ จะบรรลุเป้าหมายการขยายสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท Lotus Pharmaceutical จำกัด ผู้ผลิตยาสามัญในไต้หวัน ที่ไปซื้อกิจการมา 6.6% และได้เพิ่มมาอีกกว่า 30% รวมเป็น 37% ด้วยงบฯลงทุน 475 ล้านเหรียญสหรัฐ นับตั้งแต่ พ.ย. 2564

“ดีลบริษัทยา เราไปยื่นไฟลิ่งในแต่ละประเทศ ประมาณไตรมาส 1 ปีนี้จะจบ แล้วเราจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท โลตัสฟาร์มาฯ ประมาณ 37% ซึ่งบริษัทนี้เป็นผู้ผลิตบริษัทยาสามัญ (generic) ส่วนใหญ่จะเป็นยาโรคมะเร็ง และระบบประสาท เป็นยาพิเศษ (specialty) โดยเขาขยายไปลงทุนในเอเชีย ในญี่ปุ่นเกาหลี อินเดีย และอเมริกาบางส่วน สำหรับแผนการผลิตกับบริษัทโลตัสจะเป็นยาคนละตัวกับที่อินโนบิกทำความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) แต่ธุรกิจนี้สามารถส่งเสริมกันได้ เพราะบริษัทโลตัสฯมีโรงงานยาชีววัตถุอยู่ที่ไอซ์แลนด์ซึ่งทางเราพยายามผลักดันกันอยู่ว่า ที่คุยกันอยู่หากเราสามารถพัฒนายาตัวนี้ได้ในราคาที่ถูกลง เพราะยาชีววัตถุก็เป็นเป้าหมายเหมือนกัน เป็นยาที่คนไข้จะรู้สึกปลอดภัย แต่มันยากเพราะเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต ซึ่งมันปรับไม่ได้เหมือนยาเคมี”

ส่วนธุรกิจเครื่องมือแพทย์ ทางบริษัทได้เริ่มนำเข้า ATK บางส่วน แต่อยู่ระหว่างพัฒนาเครื่องมือแพทย์อื่น ๆ ซึ่งถุงมือยางก็เป็นหนึ่งในสินค้าที่อยู่ในไปป์ไลน์ โดยเริ่มติดต่อโรงงานในประเทศ

นายบุรณินกล่าวอีกว่า ปตท.มีแผนผลักดันและสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่มาตั้งแต่ปีก่อน ไม่ใช่เพราะโอมิครอนเพราะเรื่องสุขภาพเป็นเทรนด์จากเมื่อก่อนเรื่องนี้เป็นแค่โอกาส (ออปเพอร์ทูนิตี้) ในสิ่งที่จำเป็น ถ้าไม่ทำแล้ววิกฤตเกิดขึ้น บางอย่างที่อยากจะนำเข้าก็นำเข้าไม่ได้ในช่วงวิกฤต หลาย ๆ ครั้งที่เรานำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ หรือ ATK มา ในภาวะปกตินำเข้าถูกกว่า แต่ในภาวะวิกฤตซื้อมาก็ยังไม่ได้ และในงานวิจัยทางการแพทย์ทั้งหลายที่มีอยู่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับห้องปฏิบัติการ การจะพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์ยากมาก ฉะนั้นการที่เราไปลงทุนกับบริษัทยาต่างประเทศ เราก็หวังว่าจะนำตรงนี้มาต่อจิ๊กซอว์ระหว่างในประเทศและต่างประเทศ

“การสร้างอีโคซิสเต็มในธุรกิจใหม่ใช้เวลาพอสมควร ถ้าเราไม่เริ่ม ถึงเวลาจุดนั้นประเทศไทยก็จะลำบาก และความโชคดี บางอย่างเริ่มจากศูนย์ไม่ได้ แต่พอ ปตท.มาทำ ตรงนี้เรามีพันธมิตรที่ดีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น องค์การเภสัชกรรม บริษัทยาต่างประเทศ ยาในประเทศ หรืออุปกรณ์การแพทย์ และดีที่สินค้าบางชนิดใช้บายโปรดักต์จากปิโตรเคมีที่มีอยู่ เป้าหมายเราอยากได้กำไร EBITDA จากธุรกิจใหม่ 30% ใน 10 ปี นับจากปี 2565-2575 ซึ่งนั่นหมายถึงจากนี้ต้องโตกระโดด”