ขนน้ำมันปาล์มมาเลย์ผ่านไทยไปลาว กนป.ส่งตำรวจคุมขบวน 5 พันตันสกัดตกค้าง

ปาล์ม

เปิดเบื้องลึก กนป.ปล่อยนำผ่านน้ำมันปาล์มสำเร็จรูป 5 พันตัน สปป.ลาว แค่ “ปลาซิวตกปลากะพง” แลกการอำนวยความสะดวกเปิดทางส่งผ่านผลไม้ไปจีนหมื่นล้าน ด้านสมาพันธ์ชาวสวนกระทุ้งรัฐเร่งเครื่อง “โครงสร้างราคาปาล์ม” ยืดมา 4 ปี-ค้านจัดโซนนิ่งปลูกปาล์มตั้งคำถามจำกัดสิทธิเกษตรกร ขัด รธน.

แหล่งข่าวจากวงการปาล์มน้ำมันกล่าวว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ไม่เพียงผ่านรับทราบมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กบง.) เรื่องการปรับลดสูตรการใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 7 เป็นบี 5 เท่านั้น แต่ที่สำคัญมี “วาระพิจารณา” ให้ความเห็นชอบ ประเทศไทยช่วยอำนวยความสะดวกในการนำผ่านน้ำมันปาล์มสำเร็จรูปจากมาเลเซียไปยัง สปป.ลาวตามคำขอร้องของทางลาว ปริมาณ 5,000 ตันต่อปี เพื่อนำไปบรรจุที่ประเทศลาว

“ที่ประชุมไม่ได้กำหนดว่าจะต้องนำเข้าเท่าไหร่ต้องครบ 5,000 ตันหรือไม่ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของทางฝั่งลาว และไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าต้องนำเข้าในช่วงใด แต่ในกรณีที่ต้องการนำเข้าจะต้องแจ้งไทยล่วงหน้าเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งเขาอ้างว่าการเปิดตลาดให้มีการนำผ่านน้ำมันปาล์มเป็นการอำนวยความสะดวกเท่านั้น สินค้าดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าเพียง 200-300 ล้านบาท ถือว่าเป็นการช่วยเหลือกัน เพราะไทยเองก็ต้องการความช่วยเหลือจากลาวในเรื่องการส่งผ่านสินค้าเกษตรของไทยไปยังประเทศจีน เปรียบเสมือนเป็นการใช้ปลาเล็กปลาซิวไปตกปลากะพง ซึ่งในแต่ละปีไทยส่งสินค้าไปจีนเป็นหลัก 10,000 ล้านบาท”

ประเด็นดังกล่าวทางโรงกลั่นน้ำมันปาล์มเห็นว่า เหตุใดจึงไม่ให้เสนอขอให้ทาง สปป.ลาวนำเข้าจากไทยแทน แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ เพราะคำตอบว่าการนำเข้าดังกล่าวเป็นความตกลงการค้าระหว่างลาวและมาเลเซีย ไม่สามารถจะซื้อจากไทยได้ ไทยจึงจำนนต้องยอมให้นำผ่านไป

อย่างไรก็ตาม เพื่อความมั่นใจว่าน้ำมันปาล์มที่นำเข้าจากมาเลเซียจะไม่ตกค้างอยู่ในประเทศไทย ทางประธาน กนป.มอบหมายให้ทางตำรวจจัดขบวนรถนำรถขนส่งน้ำมันปาล์มดังกล่าว โดยกำชับว่าถ้าจะเคลื่อนที่ก็ไปพร้อมกันจอดพร้อมกัน ตั้งแต่เข้ามาจนออกไป เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาวสวนปาล์มว่าจะไม่มีน้ำมันปาล์มติดค้างในประเทศ

และหลังจากนี้กรมการค้าภายในจะต้องตรวจสอบสต๊อกน้ำมันปาล์มอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2565 จากปัจจุบันที่สถานการณ์สต๊อกของน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีปริมาณลดลงเหลือเพียง 1.3 แสนตันจากสต๊อกเมื่อเดือนธันวาคมที่มีปริมาณ 1.62 แสนตัน เป็นผลมาจากความต้องการในการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตพลังงานเพิ่มขึ้น แต่หลังจากนี้ต้องติดตามประเมินสถานการณ์สต๊อกน้ำมันปาล์มในเดือนมีนาคมว่าจะยังเหลือปริมาณเท่าใด กว่าผลปาล์มดิบจะออกสู่ตลาด

ขณะที่ รัฐบาลได้วางมาตรการเพื่อป้องกันปัญหาราคาปาล์มตกต่ำลงอีกรอบด้วยการขยายเวลาการส่งเสริมการส่งออก โดยยังคงกำหนดเงื่อนไขว่าจะชดเชยให้กับผู้ส่งออก กก.ละ 2 บาทไปต่อเนื่องจนถึงเดือนกันยายน 2565

ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้งบประมาณในการชดเชยวงเงิน 300 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขว่าจะอนุญาตให้ส่งออกได้ก็ต่อเมื่อ 1) ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบมีมากกว่า 300,000 ตันหรือเกินกว่าปริมาณสต๊อกเพื่อความมั่นคง และ 2) ราคาในประเทศสูงกว่าราคาต่างประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาที่กำหนดเป้าหมายการชดเชยไว้ 3 แสนตัน มีผู้มาขอใช้ 50% ของเป้าหมาย

ในส่วนนายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการ กนป. กล่าวว่า ได้เสนอให้ประธาน กนป.พิจารณามาตรการแก้ปัญหาปาล์มน้ำมันของประเทศไทย โดยการติดตามประเด็นที่ กนป.เคยอนุมัติไปไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะเรื่องการจัดทำโครงสร้างราคาปาล์ม ซึ่งได้อนุมัติไปเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2561 จนถึงปัจจุบันผ่านมา 4 ปีเต็มยังไม่มีความคืบหน้า

“ประเด็นนี้ทางกรมการค้าภายในซึ่งเป็นหน่วยงานหลัก เป็นคณะอนุกรรมการราคาชี้แจงว่า ขณะนี้ได้มีการศึกษาข้อมูลการจัดทำโครงสร้างราคาปาล์มไปแล้วแต่ยังใช้ไม่ได้จึงต้องหารือกันใหม่ แต่เรามองว่าผ่านมานานขนาดนี้ หากคนทำไม่ได้ ผ่านมา 4 ปียังไม่สะเด็ดน้ำก็เป็นที่น่าแปลกใจ ควรหาคนใหม่มาทำแทน ซึ่งในที่ประชุมทางประธาน กนป.ยังคงมอบหมายให้กรมการค้าภายในไปเร่งรัดเรื่องดังกล่าวให้สำเร็จ”

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้ติดตามรองนายกฯ ให้เป็นหัวหน้าคณะในการพัฒนาคุณภาพในการปลูกปาล์ม เพื่อให้ได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มสูงขึ้นจาก 18% เป็น 20% เพื่อไปแข่งขันกับคู่แข่งอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียที่มีการพัฒนาเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มไปถึง 22-23% แล้ว

“โจทย์ของ กนป.ได้มอบหมายให้ศึกษาการพัฒนาเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันเพื่อต่อยอดไปเป็นน้ำมันหม้อแปลงและน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์ยูโร 5 แต่ทางสมาพันธ์ก็ห่วงว่าหากยังไม่ได้มีการหารือกับทางกระทรวงพลังงานจนตกผลึกก็จะถูกเบรกเหมือนกรณีของการผลักดันไบโอดีเซล บี 7 อีก”

และหากรัฐต้องการยกระดับการปลูกปาล์มให้มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง รัฐบาลควรใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการเลิกรับซื้อผลปาล์มดิบที่เกษตรกรตัดมาและเปอร์เซ็นต์น้ำมันยังไม่ถึงเกณฑ์ และควรกำหนดโทษโรงงานที่รับซื้อผลปาล์มดิบด้วย

“โดยชาวสวนยังไม่เห็นด้วยกับการกำหนดพื้นที่โซนนิ่งสวนปาล์ม เพราะการจำกัดพื้นที่โซนนิ่งเป็นมาตรการที่ไปจำกัดสิทธิเกษตรกร ซึ่งน่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญ”