ครม.เท 1,687 ล้าน ลดปลูกข้าวนาปรัง 9 แสนไร่

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอมาตรการเพื่อแก้ไขราคายางพาราตกต่ำให้ครม.รับทราบในเบื้องต้น จำนวน 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1 การเพิ่มปริมาณการใช้ยางในหน่วยงานราชการ ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย จำนวน 7-8 หมื่นตัน หรือ ลดปริมาณยางออกสู่ตลาด 5,000 ตัน อย่างไรก็ตามหน่วยงานต่าง ๆ จะนำกลับไปพิจารณาปริมาณการใช้ยางเพิ่มเติมอีกครั้งเพื่อให้ได้ปริมาณเพิ่มมากขึ้น เป้าหมาย 2 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท

มาตรการที่ 2 การช่วยเหลือผู้ประกอบการรับซื้อยางภายในประเทศ วงเงินสินเชื่อ 2 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลจะชดเชยภาระดอกเบี้ยร้อยละ 3 หรือ 600 ล้านบาท คาดว่าจะดูดซับปริมาณยางได้ 3.5 แสนตัน
มาตรการที่ 3 การลดการกรีดและการปลูกยาง ประกอบด้วย พื้นที่ของหน่วยราชการ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือ 4 หมื่นไร่ และ พื้นที่ของประชาชนทั่วไปในการลดการปลูกยางเพื่อปลูกพืชแซมดินอื่น ระยะเวลาหยุดกรีดยางเดือนมกราคม ถึง มีนาคม 2561 เป้าหมาย 2 แสนไร่ โดยจะสนับสนุนปัจจัยการผลิตและแรงจูงใจอื่น
ทั้งนี้ จะนำ 3 มาตรการเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการยางแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการกำหนดนโยบายยางเพื่อเห็นชอบก่อนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.เพื่ออนุมัติในวันอังคารที่ 19 ธันวาคมต่อไป

นอกจากมาตรการภายในประเทศแล้ว จะหารือกับประเทศส่งออกยางรายใหญ่อีก 2 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซียและมาเลเซียและเห็นชอบในหลักการเพื่อลดการส่งออกลงช่วงระยะหนึ่ง ประมาณ 2 แสนตัน ขณะที่มาตรการเสริมการยางแห่งประเทศไทยจะรับซื้อยางจากเกษตรกรในตลาดหลัก 6 แห่งและตลาดรอง 108 แห่ง

ด้านนายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า โครงการปรับพื้นที่ปลูกพืชทดแทนการปลูกข้าว (นาปรัง) รอบที่ 2 ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2560/61 (ด้านการผลิต) วงเงินงบกลาง ฯ ปี 2561 จำนวน 1,687 ล้านบาท จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการขยายการส่งเสริมการปลูกพืชหลายหลาย 3 แสนไร่ 2.โครงการขยายการปลูกพืชปุ๋ยสด 2 แสนไร่ และ 3.โครงการส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ 4 แสนไร่ โดยสนับสนุนเงินเพื่อค่าใช้จ่ายเป็นปัจจัยการผลิตไร่ละ 2 พันบาท ไม่เกิน 15 ไร่ ทั้งนี้ เป้าหมายลดพื้นที่ปลูกข้าวรอบที่ 2 เพิ่มขึ้น 9 แสนไร่