จีดีพีเกษตร Q1 โต 4.4% มั่นใจทั้งปี ยังขยาย 2-3%

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

สศก.เผย GDP ภาคเกษตร ไตรมาส 1 ปีนี้ 2565 โต 4.4% จากอานิสงส์ราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ ชี้วิกฤตรัสเซีย ยูเครนกระทบไทยแค่ทางอ้อม สวนทางสาขาปศุสัตว์ หดตัว 2% จากโรค ASF ผลผลิตสุกรลดปริมาณการเลี้ยง ต้นทุนค่าอาหารสัตว์สูง มั่นใจทั้งปี ยังขยายตัว 2 – 3% ย้ำเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงสภาพอากาศ พร้อมจับตาความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ต่อเนื่อง

วันที่ 24 มีนาคม 2565 นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2565 (เดือนมกราคม – มีนาคม 2565) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ซึ่งมีทิศทางเป็นบวกต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2564 (เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2564) ที่ขยายตัว ร้อยละ 0.7

โดยการเติบโตได้ดีในไตรมาสนี้เป็นผลจากสาขาพืชซึ่งเป็นสาขาการผลิตหลักขยายตัว เนื่องจากฝนที่ตกต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 ถึงต้นปี 2565 และสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้การผลิตพืชสำคัญ ทั้งข้าว อ้อยโรงงาน สับปะรด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ เพิ่มขึ้น ส่งผลให้สาขาบริการทางการเกษตรขยายตัวได้ตามพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เก็บเกี่ยวพืชที่เพิ่มขึ้น ขณะที่สาขาประมงและสาขาป่าไม้ ขยายตัวได้จากการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สาขาปศุสัตว์หดตัวลงจากสถานการณ์โรคระบาดในสัตว์ที่ส่งผลให้เกษตรกรปรับลดปริมาณการเลี้ยง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายสาขา พบว่าสาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 สินค้าพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน และมังคุด

ข้าวนาปี ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากฝนที่ตกต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอในช่วงฤดูเพาะปลูก เกษตรกรจึงขยายการเพาะปลูกในพื้นที่ว่าง ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ ข้าวนาปรัง ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่สำคัญและแหล่งน้ำตามธรรมชาติมีมากขึ้น เกษตรกรจึงขยายการเพาะปลูกในพื้นที่นาปรังเดิมที่เคยปล่อยว่าง และเกษตรกรในภาคกลางบางรายทำการเพาะปลูกชดเชยในพื้นที่ที่เสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายเดือนกันยายน 2564 อ้อยโรงงาน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำและสภาพอากาศเอื้ออำนวย ส่งผลให้ต้นอ้อยเจริญเติบโตได้ดีขึ้น

ประกอบกับโรงงานน้ำตาลมีระบบประกันราคารับซื้อผลผลิตอ้อยสดคุณภาพดี จูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยและเอาใจใส่ดูแลผลผลิต สับปะรดโรงงาน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากสับปะรดที่ปลูกในช่วงปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 เริ่มให้ผลผลิต ซึ่งเป็นผลจากราคาสับปะรดโรงงานในช่วงดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกสับปะรดในพื้นที่ปล่อยว่าง และปลูกแซมในสวนยางพาราและสวนมะพร้าวที่ปลูกใหม่

อีกทั้ง ยางพารา ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนมีเพียงพอ ทำให้ต้นยางสมบูรณ์ดี และการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราในภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญลดลง ประกอบกับความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศจากอุตสาหกรรมยานยนต์ และการผลิตถุงมือยาง ทำให้เกษตรกรเพิ่มจำนวนวันกรีดยาง ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตเพิ่มขึ้น

เนื่องจากการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในปี 2562 เพื่อทดแทนพืชชนิดอื่น ได้แก่ เงาะ ลองกอง กาแฟ และยางพารา เริ่มให้ผลผลิตในช่วงปี 2565 และในแหล่งผลิตสำคัญมีสภาพอากาศเอื้ออำนวย รวมถึงราคาปาล์มน้ำมันมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก เกษตรกรมีการบำรุงดูแลมากขึ้น ส่งผลให้ทะลายปาล์มมีความสมบูรณ์ ลำไย ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นจากต้นลำไยที่เกษตรกรปลูกแทนพืชอื่นในปี 2562 เช่น ลิ้นจี่ และไม้ผลอื่น ซึ่งเริ่มให้ผลผลิตในช่วงปี 2565

ประกอบกับสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทำให้ลำไยติดผลดีและมีจำนวนผลต่อช่อเพิ่มขึ้น โดยเป็นผลผลิตนอกฤดูผลผลิตซึ่งส่วนใหญ่มาจากจังหวัดจันทบุรี ทุเรียน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง จูงใจให้เกษตรกรมีการบำรุงดูแลรักษา และมีการทำทุเรียนนอกฤดูมากขึ้น

ประกอบกับการขยายพื้นที่ปลูกใหม่ในปี 2560 เริ่มให้ผลผลิตในปี 2565 เป็นปีแรก มังคุด ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงเดือนธันวาคม 2564 – มกราคม 2565 ตอนกลางของประเทศมีอากาศหนาวเย็นที่เอื้ออำนวยต่อการออกดอกและติดผล และในปีที่ผ่านมามังคุดมีการออกดอกและติดผลน้อย ทำให้มีเวลาพักสะสมอาหาร ส่งผลให้มีการออกดอกติดผลมากขึ้น สินค้าพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และเงาะ

โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตลดลง เนื่องจากปัญหาด้านสภาพอากาศและการเกิดอุทกภัยในแหล่งผลิตสำคัญในช่วงเดือนกันยายน – พฤศจิกายน 2564 ส่งผลให้พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงไตรมาสนี้บางส่วนได้รับความเสียหาย มันสำปะหลัง ผลผลิตลดลง เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกสำคัญหลายจังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ ลพบุรี นครสรรค์ และอุทัยธานี ประสบปัญหาอุทกภัยและน้ำท่วมขังในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม 2564

ส่งผลให้หัวมันเน่าเสียหาย และไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ และ เงาะ ผลผลิตลดลง เนื่องจากเกษตรกรมีการบำรุงดูแลรักษาน้อยกว่าไม้ผลอื่นที่มีราคาสูง ประกอบกับมีการปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้ผลอื่นที่มีราคาดีกว่า และมีการตัดโค่นต้นที่ปลูกแซมในสวนทุเรียน มังคุด และปาล์มน้ำมันที่เติบโตขึ้น ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง

สาขาปศุสัตว์ หดตัวร้อยละ 2.0 เนื่องจากการผลิตสุกรได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรต้องลดปริมาณการเลี้ยง ประกอบกับต้นทุนค่าอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินค้าปศุสัตว์ที่ยังมีต่อเนื่อง การจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐานและการเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มงวด ทำให้ผลผลิตปศุสัตว์หลายชนิดเพิ่มขึ้นได้

“สินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตลดลง คือ สุกร เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรมีความกังวลกับสถานการณ์โรคระบาดในสุกรตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever : ASF) ประกอบกับต้นทุนการเลี้ยงที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีการปรับลดปริมาณการเลี้ยงสุกร ขณะที่สินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ เนื่องจากมีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ”

“ไข่ไก่ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการจัดการฟาร์มที่มีประสิทธิภาพ และสภาพอากาศเอื้ออำนวย ส่งผลให้ไข่ไก่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น น้ำนมดิบ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี ดูแลเอาใจใส่สุขภาพของแม่โคและมีการปรับปรุงพันธุ์แม่โคให้มีอัตราการให้น้ำนมเพิ่มขึ้น”

สาขาประมง ขยายตัวร้อยละ 2.5 เป็นผลมาจากผลผลิตประมงทะเลในส่วนของสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้มีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากมรสุมเริ่มลดลง ชาวประมงสามารถนำเรือออกไปจับสัตว์น้ำได้เพิ่มขึ้น ส่วนปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีทิศทางดีขึ้น โดยแรงงานได้รับวัคซีนตามที่กำหนดและสามารถกลับเข้าทำงานได้ กุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากระดับราคาที่จูงใจ ทำให้เกษตรกรปรับเพิ่มจำนวนลูกพันธุ์และลงลูกกุ้งมากกว่าช่วงที่ผ่านมา

แม้จะยังพบการระบาดของโรคขี้ขาว ไวรัสตัวแดงดวงขาว หัวเหลือง ในบางพื้นที่ แต่เกษตรกรมีการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ด้านผลผลิตประมงน้ำจืด ปลานิล และ ปลาดุก มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากน้ำในแม่น้ำลำคลองมีเพียงพอสำหรับการเลี้ยง และเกษตรกรมีการอนุบาลลูกปลาให้ได้ขนาดและแข็งแรงก่อนปล่อยลงบ่อเลี้ยง ทำให้อัตราการรอดสูงขึ้น

สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 2.4 โดยกิจกรรมการเตรียมดินเพิ่มขึ้นตามพื้นที่เพาะปลูกพืชสำคัญ    ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง และมันสำปะหลัง เนื่องจากปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช และราคา      ที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี และกิจกรรมการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้นตามพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง และสับปะรดโรงงาน

ส่วนสาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.2 เนื่องจากผลผลิตไม้ยางพารา ถ่านไม้ และครั่ง เพิ่มขึ้นเป็นหลัก โดยผลผลิตไม้ยางพารา เพิ่มขึ้นตามพื้นที่การตัดโค่น สวนยางพาราเก่า เพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีและพืชอื่น และความต้องการของตลาดจีนที่มีมากขึ้น ผลผลิตถ่านไม้ เพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ภายในประเทศทั้งโรงแรมและร้านอาหาร รวมถึงการส่งออกไปยังจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผลผลิตครั่ง เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต และยังเป็นที่ต้องการของตลาดอินเดีย ส่วนรังนกยังมีความต้องการจากประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการไม้ยูคาลิปตัสเพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

“แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2565 คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 – 3.0 เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยทุกสาขาการผลิต มีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นจากอิทธิพลของลานิญา ประกอบกับภาครัฐมีความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการด้านการผลิตและการตลาดที่ดี มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของตลาด”

“นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น ทำให้มีความต้องการสินค้าเกษตรทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะฝนทิ้งช่วงและความแปรปรวนของสภาพอากาศในบางพื้นที่ แนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตทั้งในด้านราคาปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช และอาหารสัตว์ รวมถึงค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ ตลอดจนสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก”