โรงสีสุพรรณปะทะ 2 บิ๊กเนม ชิง “ตลาดกลางข้าว” 24 ก.ค.

“บูรณากาญจน์” ท่าข้าวเขาใหญ่สุพรรณบุรี ทุนท้องถิ่นโผล่ชิงตั้งตลาดกลางข้าวสาร กระทบไหล่เจ้าสัวเบียร์ช้าง-ตลาดไท ลุ้น “นันทวัลย์” เคาะ 24 ก.ค.นี้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธานในการได้เปิดให้ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจัดตั้งตลาดกลางข้าวสารสู่มาตรฐานสากล แห่งแรกของประเทศไทย 3 รายมาแสดงวิสัยทัศน์ และจะประกาศผลการคัดเลือกในวันที่ 24 กรกฎาคม 2560

สำหรับผู้ประกอบการ 3 รายที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ 1.บริษัท ไทยแอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจบริหารจัดการตลาดไท ซึ่งหากเจาะลึกลงไปดูในชื่อกรรมการจะพบว่าเป็นกลุ่มทุนของนายประดิษฐ์ภัทรประสิทธิ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 2.บริษัท ตะวันนา ไนท์บาซาร์ ซึ่งเป็นผู้บริหารตลาดตะวันนา ซึ่งบริษัทนี้เป็นกลุ่มทุนเดียวกับบริษัทที่บริหารจัดการตลาดต่อยอดของบริษัท TCC Land Asset World ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดีและ 3.บริษัท บูรณากาญจน์ จำกัด ซึ่งตอนแรกที่ยื่นเอกสารในการสมัครไม่ครบ แต่ภายหลังได้นำเอกสารมาเพิ่มจนครบและสามารถเข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ได้ บริษัทนี้เป็นผู้ประกอบการท่าข้าวเขาใหญ่ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเดิมกลุ่มนี้มีเครือญาติประกอบธุรกิจโรงสีไทยเพิ่มผลซึ่งเป็นที่รู้จักใน จ.สุพรรณบุรีมาเป็นระยะเวลายาวนาน

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังผู้ส่งออกข้าวหลายราย ซึ่งส่วนใหญ่ “ไม่เห็นด้วย” กับการจัดตั้งตลาดกลางข้าวสาร เพราะเห็นว่าระบบเดิมที่ซื้อขายมีความเหมาะสมอยู่แล้ว และมองว่าการตั้งตลาดกลางจะมีผลต่อราคาที่ดินโดยรอบ ให้ประโยชน์กับผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากกว่า อีกทั้งระบบนี้อาจเป็นการตัดตอนธุรกิจ “หยง” ที่เป็นคนกลางรวบรวมข้าวสารให้ผู้ส่งออกจะได้รับผลกระทบ

ขณะที่โรงสีส่วนใหญ่เห็นด้วย เพราะตลาดกลางจะช่วยให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจในการค้าข้าว จากปัจจุบันที่โรงสีมีอำนาจต่อรองน้อยกว่าผู้ส่งออก เพราะมีจำนวนโรงสีเพิ่มขึ้นมากกว่ากำลังการผลิตข้าว 3 เท่าต้องแย่งกันขายให้ผู้ส่งออกได้ราคาต่ำ หากมีตลาดกลางโรงสีจะสามารถขายตรงให้ผู้ซื้อปลายทางได้

ส่วนผู้ที่เหมาะสมในจำนวน 3 ราย มองว่า หากพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการประมูลที่ระบุว่า ผู้สมัครต้องมีประสบการณ์ได้รับการยอมรับไม่น้อยกว่า 10 ปี มีสถานที่จัดตั้งตลาดข้าวไม่น้อยกว่า 10 ไร่ ในกรุงเทพมหานคร/ปริมณฑล หรือจังหวัดใกล้เคียงที่เหมาะสม และต้องมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิถือครองที่ดิน โฉนดต้องไม่ติดจดจำนอง หากมีสัญญาเช่าต้องไม่น้อยกว่า10 ปี เท่ากับว่าผู้สมัครทั้ง 3 รายผ่านคุณสมบัตินี้ทั้งหมด

“แต่หากเปรียบเทียบเฉพาะประสบการณ์เรื่องสินค้าเกษตรจะมีกลุ่มตลาดไทและบริษัทบูรณากาญจน์มีความเชี่ยวชาญเรื่องข้าวและสินค้าเกษตร แต่ตลาดไทมีความได้เปรียบในเรื่องของเม็ดเงินลงทุน และความพร้อมในเรื่องของการบริหารจัดการตลาดครบวงจร มีสินค้าเกษตรชนิดอื่นด้วย หาก

ผู้ซื้อต่างประเทศมาจะสามารถดูสินค้าอื่นได้แบบ One Stop Service สอดคล้องเงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้ลงทุนต้องมีพื้นที่บริการตรวจสอบคุณภาพสินค้าและบริการแบบ One Stop Service ตามมาตรฐานสากล”

อย่างไรก็ตาม การพิจารณายังต้องคำนึงถึงความได้เปรียบเรื่อง “เงินทุน” ด้วย เพราะโครงการนี้กำหนดให้เอกชนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ทั้งการจัดหาพื้นที่และก่อสร้างรวมถึงการบริหารจัดการ และจัดงานบุคลากรมาทำหน้าที่บริหารจัดการ จัดหาบริการตามรูปแบบและวิธีการตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด แต่ภาครัฐจะเข้าไปสนับสนุนเพียงแค่เฉพาะเรื่องครุภัณฑ์และอุปกรณ์ระบบฐานข้อมูล กิจกรรมประชาสัมพันธ์ การส่งเสริมการตลาดเชื่อมโยงตลาดในและต่างประเทศ และการฝึกอบรมเท่านั้น