คสรท.บุกแรงงานขอขึ้น “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เท่ากันทั่วประเทศ เป็นไปได้ขอ 360 บาทต่อคน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 ธันวาคม ที่กระทรวงแรงงาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน คสรท. น.ส.ธนพร วิจันทร์ รองประธาน คสรท. นายชาลี ลอยสูง รองประธาน คสรท. และนายสมพร ขวัญเนตร รองประธาน คสรท. พร้อมด้วยเครือข่ายแรงงานเดินทางเพื่อร่วมแถลง “จุดยืนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงาน” ก่อนจะเข้าพบ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อหารือประเด็นค่าจ้างขั้นต่ำในเวลา 13.00 น.

นายสาวิทย์กล่าวว่า การมาในครั้งนี้เพื่อมาแสดงจุดยืนถึงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำว่า ต้องเพิ่มเท่ากันทั่วประเทศ โดยยึดหลักว่า 1 คนต้องเลี้ยงครอบครัวได้ 2 คน หมายความว่าเงินค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอสำหรับเลี้ยงสมาชิกในครอบครัว 3 คน ส่วนที่มีตัวเลขออกไปก่อนหน้านี้ว่า 712 บาทต่อวันนั้น เป็นตัวเลขสำรวจแรงงาน 29 จังหวัด ประมาณ 3,000 คน แต่ทาง คสรท.ไม่ได้เสนอว่าต้องตัวเลขเท่านี้ เพียงแต่ตัวเลขจะเป็นเท่าไรต้องมาพิจารณาร่วมกัน ซึ่งหากจะพูดถึงต่อคนแล้ว เคยทำการสำรวจไว้ว่าแรงงานต้องได้ค่าจ้างขั้นต่ำประมาณ 360 บาท เนื่องจากการสำรวจหนี้แต่ละคน ณ ปัจจุบัน พบว่ามีหนี้สินเฉลี่ยต่อวันถึง 225.87 บาท

“ขอยืนยันว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นไปตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอ (ILO) ซึ่งตรงนี้จะเป็นการพิสูจน์คำสัญญาของรัฐบาลที่เคยระบุไว้ว่า การบริหารประเทศจะต้องยึดหลักการทางสากล อย่างล่าสุดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีมีมติประกาศวาระแห่งชาติ เรื่องสิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะพาประเทศให้ก้าวพ้นการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แต่จะเป็นไปได้อย่างไรหากค่าแรงขั้นต่ำยังไม่เพิ่ม ยังมีความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น การเพิ่มค่าแรงต้องเท่ากันทั่วประเทศ ไม่ใช่เพิ่มเป็นกลุ่ม ส่วนตัวเลขก็ต้องเพียงพอต่อการยังชีพทั้งครอบครัว
ประธาน คสรท. กล่าวอีกว่า ประเด็นการเพิ่มค่าแรงนั้น ต้องมีการตรึงราคาสินค้าควบคู่ไปด้วย ไม่เช่นนั้นไม่เกิดประโยชน์ แต่ที่ผ่านมาเมื่อขึ้นค่าแรง รัฐบาลมักอ้างว่าสินค้าจะแพงขึ้น ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริง ค่าจ้างแรงงานต่อผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้นไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่า รองเท้าราคา 100 เหรียญ จริงๆ มีค่าแรงเพียง 0.4 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับเพิ่มราคาสินค้า ซึ่งไม่สมควร นอกจากนี้ รัฐบาลควรกำหนดโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี เพราะหากไม่กำหนด ทำให้ลูกจ้างไม่สามารถวางแผนชีวิตล่วงหน้าได้เลย ไม่ใช่ต้องรอกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งไม่มีความแน่นอน”

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีปรับค่าจ้างขั้นต่ำมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจปรับที่ 2-15 บาท และไม่เท่ากันทั่วประเทศ นายสาวิทย์กล่าวว่า ยังยืนยันว่า ต้องเท่ากันทั่วประเทศ ส่วนเท่าไรต้องมาหารือทุกภาคส่วน
เมื่อถามว่า กรณีหอการค้าแห่งประเทศไทยเสนอว่าหากจะปรับต้องเป็นไปตามอัตราเงินเฟ้อ 3-5 เปอร์เซ็นต์ นายสาวิทย์กล่าวว่า ก็ต้องดูองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย เช่น หากผลสำรวจพบว่า 712 บาทเลี้ยง 3 คนได้ แต่หากรัฐบาลมีสวัสดิการที่ดีพอ ทั้งรักษาพยาบาล การศึกษา ก็อาจลดทอนลงไป ซึ่งตนยังบอกตรงนี้ไม่ได้ว่าต้องเป็นตัวเลขเท่าจึงจะเพียงพอ

น.ส.ธนพรกล่าวว่า สำหรับการสำรวจแรงงานเกือบ 3,000 คน พบว่าทุกคนล้วนมีหนี้สินมากน้อยแตกต่างกันไป บางคนมีหนี้เป็นแสน แต่เมื่อมาเฉลี่ยแล้วจะพบว่า แต่ละคนมีหนี้อยู่ที่วันละ 225.87 บาท โดยพบว่าเป็นหนี้กู้สหกรณ์ กู้นอกระบบ และหนี้ธนาคารเป็นหลัก ดังนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอหลังจากหักหนี้เหล่านี้แล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญอยากให้ยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อทางอนุกรรมการฯเสนอเรื่องเข้ามาคณะกรรมการค่าจ้างส่วนกลางก็ไม่ได้พิจารณาตามอยู่ดี ขณะเดียวกันต้องรื้อคณะกรรมการค่าจ้างส่วนกลาง ณ ปัจจุบันเสีย เพราะไม่ได้มาจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง แม้จะพูดว่ามีองค์ประกอบเป็นไตรภาคี แต่ส่วนสำคัญกลับไม่มี อาทิ หอการค้า ภาคีลูกจ้าง ทั้งแรงงานนอกระบบ และในระบบ รวมทั้งนักวิชาการอิสระ จึงขอให้รื้อและตั้งเป็นคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติที่ครบองค์ประกอบจริงๆ

 

ที่มา : มติชนออนไลน์