ส่งออกไทย ไตรมาส 2 ยังสดใส โต 5% ยังเฝ้าระวังสงครามกระทบ

ท่าเรือ ส่งออก

สรท. เผยการส่งออกของไทยไตรมาส 2 ยังสดใสโต 3.5-5% แต่ยังเฝ้าระวัง สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบต่อราคาน้ำมัน ส่งผลต้นทุนในภาพรวมสูงขึ้น แนะรัฐต้องเข้าติดตามดูแลเงินเฟ้อ เพิ่มช่องทางส่งออก

วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. คาดการณ์การส่งออกไทยในไตรมาสที่สองของปี 2565 เติบโต 3.5 – 5% โดยยังคงคาดการณ์รวมปี 2565 ทั้งปีที่ 5% โดยการส่งออกจะเป็นไปได้ตามเป้าหมายนั้น

ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่านอกจากนี้ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอย่าง ยุโรป อาเซียน เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ยังมีความต้องการสินค้าสูง ทำให้การส่งออกของไทยขยายตัว สินค้าที่ส่งออกเติบโตยังอยู่ในกลุ่มรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น

ปัจจัยปัจจัยเสี่ยงอุปสรรคสำคัญในปี 2565

1) สถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างยูเครนและรัสเซีย ส่งผลต่อการค้าโลกชะลอตัวโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่รัสเซียและยูเครนมีศักยภาพในการส่งออกไปทั่วโลก เช่น น้ำมัน แร่ธรรมชาติ และสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ปุ๋ย ปรับตัวสูงขึ้นและขาดแคลน ล่าสุดรัสเซียเริ่มงดซัพพลายพลังงานให้กับโปแลนด์และบัลแกเรียแล้ว

2) ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันมีมูลค่าสูงขึ้น ในทางกลับกันส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกือบทุกประเภทรวมถึงต้นทุนการขนส่งที่ต้องปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกราคาพลังงานในตลาดโลก ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นหลายเท่าตัวทั่วโลก

3) ค่าระวางปรับลงเล็กน้อยแต่ยังทรงตัวในระดับสูง ในเส้นทางยุโรปจากภาพรวมความขัดแย้งของรัสเซีย ยูเครน ส่วนเส้นทางสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันออกค่าระวางยังปรับเพิ่มขึ้นจากภาพรวมความต้องการในการขนส่งยังคงอยู่ในระดับสูง

ขณะที่จีนอยู่ในช่วงประกาศ Lockdown เซี่ยงไฮ้ ที่เป็นท่าเรือหลักส่งผลให้ปัญหาเรือ Delay รอเทียบท่ามากกว่า 1 สัปดาห์ สายเรือมีการทำ Blank Sailing ผู้ประกอบการบางส่วนเริ่มเลี่ยงการขนส่งเข้าไปที่ท่าเรือหลัก

4) แรงงานในภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง ประกอบกับอาจมีแนวโน้มต้นทุนการจ้างงานที่ปรับตัวสูงขึ้น กระทบภาคการผลิตที่กำลังเผชิญเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงอยู่ก่อนแล้ว

5) ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, แร่ธรรมชาติ, สินค้าอุปโภคบริโภคขั้นต้นและขั้นกลาง เป็นต้น

6) สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 หลายประเทศเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการ สำหรับการเดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงไทยที่เปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทำให้การเดินทางทั้งท่องเที่ยวและทำธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น ขณะที่บางประเทศยังคงเข้มงวดในเรื่องของมาตรการตรวจสอบโควิดก่อนเข้าประเทศ

อาทิ ประเทศจีน ที่ล่าสุดมีจำนวนผู้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากท่ามกลางการแพร่กระจายของโควิดโอไมครอนที่สามารถติดต่อได้ง่าย อย่างไรก็ดียังคงต้องเฝ้าติดตามและประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญประกอบด้วย คือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยขอให้ภาครัฐพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยอ้างอิงจากปัจจัยการปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก พร้อมทั้งบริหารจัดการอัตราเงินเฟ้อไม่ให้ปรับตัวสูงเกินกว่า 5% เพื่อให้ผู้ประกอบการไม่แบกรับภาระที่สูงจนเกินไป และขอให้พิจารณาปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการมีต้นทุนแรงงานที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเฉลี่ยต่อคนประมาณ 12,000 บาท ดังนั้นหากปรับขึ้นมากเกินไปอาจกระทบกับธุรกิจในระดับ SME ที่กำลังฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 และยังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ในช่วงเวลานี้

นอกจากนี้ ต้องการให้ภาครัฐต้องพิจารณาควบคุมหรือปรับลดค่าใช้จ่ายภาคประชาชนในการดำรงชีวิต เช่น ค่าเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ (Mass transportation) ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าพลังงาน (น้ำมันและก๊าซหุงต้ม) และต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของประชาชน รวมถึงลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ ทั้งด้านแรงงานและเครื่องจักร แทนที่การควบคุมราคาสินค้าของผู้ประกอบการ ท่ามการการปรับตัวเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต

อาทิ ราคาน้ำมัน ค่าขนส่ง วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ซึ่งหากต้นทุนของผู้ประกอบการต่ำ จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการต้นทุนในระบบและไม่จำเป็นต้องผลักภาระต้นทุนไปให้แก่ผู้บริโภค อีกทั้ง รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ระดับที่เหมะสม ผ่านเครื่องมือหรือกลไกในการควบคุมไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากเกินไป

และเร่งมองหาช่องทางขยายตลาดเพิ่มเติมทั้งกลุ่มตลาดศักยภาพระดับรองที่อาจเป็นโอกาสของสินค้าไทยที่สามารถทดแทนกลุ่มสินค้าที่เริ่มได้รับผลกระทบจากการชะลอคำสั่งซื้อจากประเทศรัสเซียและยูเครน เร่งกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าเพื่อยกระดับ/กระตุ้นให้เกิด Trade activity ในลักษณะ Exhibition / Business matching ระหว่างกันให้มากขึ้น รวมถึงเร่งผลักดันการค้าเข้าสู่ตลาด RCEP ให้มากที่สุด เพื่อใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงดังกล่าว