ไทยไร้พื้นที่ประสบภัยแล้งปี’64 กอนช.เดินหน้าต่อแผนรับมือฝนปี’65

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

กอนช.เผยผลบริหารจัดการน้ำฉลุย หลังบูรณาการทำงาน ปีที่แล้วไม่มีประกาศภัยแล้ง พร้อมถอดบทเรียนขยายผล จี้ทุกหน่วยงานรุก 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 เคร่งครัด เข้าช่วยเหลือประชาชนทันท่วงที เพิ่มแผนที่ฝน one map ติดตามสภาพฝนรายภาคในระยะ 3 เดือนนี้อย่างใกล้ชิด (มิ.ย.-ส.ค.)

วันที่ 6 มิถุนายน 2565 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวหลังเป็นประธานแถลงผลงานการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/2565 และการเตรียมรับมือฤดูฝน ปี 2565 ว่า ความสำเร็จในการบูรณาการแก้ไขปัญหาในช่วงฤดูแล้งปี’64/65 ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยไม่มีการประกาศภัยแล้ง

ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติการตามมาตรการและแผนเชิงรุกเพื่อรับมือภัยแล้งที่วางไว้อย่างเคร่งครัด สามารถลดและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับฤดูฝนปี’65 นี้ รัฐบาลได้กำหนด 13 มาตรการรับมือฤดูฝน

โดยเพิ่มเติม 3 มาตรการ คือ การตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย การจัดเตรียมพื้นที่อพยพและซ้อมแผนเผชิญเหตุ รวมถึงการตรวจสอบความมั่นคงของพนังกั้นน้ำ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนนี้ และเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปีนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขอให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุได้อย่างทันท่วงที รวมถึงวางแผนเก็บกักน้ำสำรองทุกแหล่ง ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินไว้รองรับฤดูแล้งหน้าด้วย

ส่วนการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ ได้กำชับให้คณะกรรมการลุ่มน้ำและอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เร่งบูรณาการข้อมูลและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำในเชิงพื้นที่ด้วย สำหรับหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไปแล้ว ทั้งงบฯปกติและงบฯกลางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัยและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ขอให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

รวมถึงให้ทุกหน่วยงานเดินหน้าสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้เข้าถึงข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายภาคประชาชน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในชุมชน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมอบนโยบาย 4 ข้อ ไปดำเนินการ ได้แก่ 1.ให้จัดทำแผนปฏิบัติการแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจน และดำเนินการตามแผน ติดตามแผนเผชิญเหตุ วางแผน จัดเก็บน้ำสำรองทุกแห่ง ทั้งผิวดินและใต้ดินเพื่อรองรับฤดูแล้ง 2.ให้ความสำคัญต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำและ อนุกรรมการน้ำจังหวัดที่แต่งตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ 2561 รวมไปถึง 3.ให้หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับบริหารจัดการน้ำ ทางอุทกภัยและภัยแล้งให้ความสำคัญกับการปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขณะเดียวกันให้เตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อรองรับการเก็บน้ำโดยเร็ว

4.ให้สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลทรัพยากรน้ำและเสริมสร้างความเข้มแข็ง ให้กับเครือข่ายภาคประชาชนบริหารจัดการน้ำในชุมชน เพื่อสนับสนุนการแก้ไข ปัญหาน้ำทั้งระบบต่อไป

“ในแต่ละปี มีน้ำมหาศาลถูกทิ้งลงสู่ทะเล แต่พอถึงหน้าแล้งก็ไม่มีน้ำใช้ ขอให้ถอดบทเรียนความสำเร็จปีที่ผ่านมา ที่ไม่ประกาศพื้นที่ภัยแล้งและเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้อย่างทั่วถึง และขอให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบการผลิตน้ำประปา สำรวจแหล่งน้ำสำรองสำหรับผลิตน้ำประปา อย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้การผลิตน้ำประปาต้องใช้น้ำจากลุ่มน้ำ ซึ่งจะทำให้การคำนวณปริมาณน้ำคลาดเคลื่อน รวมถึงบริหารจัดการน้ำโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ขอให้มีแหล่งน้ำสำรองของตนเองให้มากที่สุด”

ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. กล่าวว่า ทุกหน่วยงานร่วมบูรณาการตามกรอบปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง ทั้งก่อนฤดู ระหว่างฤดูและสิ้นสุดฤดู โดยวางแผนบริหารจัดการน้ำ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัย กำหนด 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี’64/65 พร้อมรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการเป็นระยะ

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 65 รวม 2,525 โครงการ มีพื้นที่รับประโยชน์ 67,616 ไร่ ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 33.88 ล้านลบ.ม. และประชาชนได้รับประโยชน์ 76,004 ครัวเรือน นอกจากนี้ ทุกหน่วยงานได้ร่วมถอดบทเรียนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำไปปรับปรุงมาตรการรับมือภัยแล้งในปีถัดไปด้วย

ส่วนการบริหารจัดการภัยแล้งปีที่ผ่านมา ได้กำหนดพื้นที่เพาะปลูกและทำเกษตรเกินพื้นที่เพาะปลูก แต่สามารถบริหารจัดการได้ จนถึงขณะนี้ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น ขณะเดียวกันส่งเสริมความเข้มแข็งในการบริหารจัดการน้ำในชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานและยังจัดหาแหล่งน้ำสำรอง ทั้งแหล่งน้ำผิวดินและใต้ดิน เพื่อจัดทำบัญชีแหล่งน้ำ นำไปสู่การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ นอกจากนี้ ยังเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ

ซึ่งปีนี้นอกเหนือจากค่าความเค็มที่เกิดจากน้ำทะเลหนุนแล้ว ยังเฝ้าติดตามคุณภาพน้ำเสียจากชุมชนเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการได้บูรณาการการทำงานในปีที่ผ่านมา และไม่ประกาศภัยแล้งทั่วประเทศ

“ส่วนการรองรับฤดูฝนที่กำลังมาถึงในปี 2565 ปรับเพิ่มเป็น 13 มาตรการ จากเดิมปี 2564 ที่มี 10 มาตรการ เช่น การคาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ การปรับปรุงระบบการระบายน้ำ และสิ่งกีดขวางทางน้ำตลอดจนตรวจความมั่นคงปลอดภัยของคัน ทำนบและพนังกั้นน้ำ”

สำหรับการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2565 ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนของแหล่งน้ำทั่วประเทศ รวม 46,660 ล้านลบ.ม.หรือคิดเป็น 57% ซึ่งในภาพรวมมีปริมาณน้ำต้นทุนมากกว่าปี’64 ดังนั้น หนึ่งในมาตรการสำคัญที่กอนช.ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันผลกระทบในช่วงฤดูฝน คือ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมรายเดือนตั้งแต่เดือน พ.ค.-ธ.ค. ปี 2565 ที่มีข้อมูลระบุรายพื้นที่ระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล เพื่อให้หน่วยงานได้เตรียมพร้อมแผนปฏิบัติในเชิงพื้นที่ได้อย่างตรงจุด

รวมถึงการใช้แผนที่ฝน one map ติดตามสภาพฝนรายภาคในระยะ 3 เดือนนี้อย่างใกล้ชิด (มิ.ย.-ส.ค.) เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่าง ๆ นำไปวางแผนเก็บกักน้ำหรือระบายน้ำเกิดความสมดุลมากที่สุด

ทั้งนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติงานตามมาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย โดยเฉพาะการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย กอนช. ได้ Kick Off การฝึกซ้อมแผนไปแล้วที่ จ.สุราษฎร์ธานี และในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ กอนช.เตรียมลงพื้นที่ฝึกซ้อมแผน ณ จ.อุบลราชธานี ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมักประสบปัญหาอุทกภัยเนื่องจากฝนตกหนักและน้ำหลากเข้าท่วมในพื้นที่ราบลุ่ม

โดยการซ้อมแผน กอนช.จะนำผลการจัดทำร่างผังน้ำลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ มาใช้ประกอบการฝึกซ้อมด้วย เนื่องจาก “ผังน้ำ” เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยวางแผนและบริหารจัดการน้ำหลากได้อย่างมีประสิทธิภาพ