ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช บางจาก ฝ่าวิกฤตพลังงาน

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
สัมภาษณ์พิเศษ

ปัญหาน้ำมันแพงนำมาสู่การตั้งข้อสังเกตถึงกำไรขั้นต้นจาก “ค่าการกลั่น” ที่ปรับขึ้นไปสูงมาก กระทั่งหลายฝ่ายเสนอให้กระทรวงพลังงานให้หาวิธีดึงกำไรขั้นต้นจากค่าการกลั่นมาช่วยเหลือรักษาเสถียรภาพดูแลกองทุนน้ำมันฯในภาวะเปราะบางนี้

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ถึงวาระร้อนค่าการกลั่น และแผนงานใหม่ BCP NET ที่จะนำองค์กรสู่ carbon neutrality ในปี 2030 และ net zero ในปี 2050 เพื่อสู้ทุกวิกฤตในอนาคต

สถานการณ์พลังงาน

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของรัสเซียที่หายไป 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ที่เป็นน้ำมันใส ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ที่น้ำมันในคลังของยุโรปอยู่ต่ำสุดในรอบ 14 ปี และฝั่งอเมริกาอยู่ต่อสุดในรอบ 16 ปี บางจากเองก็ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

สถานการณ์ทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปีนี้คาดว่ายังทรงตัวในระดับสูง ล่าสุดราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลอาจจะปรับตัวลงมาเล็กน้อย ส่วนราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ประมาณ 170 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในช่วงฤดูหนาวของยุโรปและสหรัฐอเมริกาปลายปีนี้

คาดว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวเพิ่มขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาราคาน้ำมันดีเซล และ LPG ก็คงปรับเพิ่มเช่นกัน ซึ่งหากสงครามยังยืดเยื้อคาดว่าราคาน้ำมันดีเซลมีโอกาสแตะ 200 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ต้องดูดีมานด์ซัพพลายกันไปเป็นระยะ

“ที่ผ่านมาบางจากได้หารือกับภาครัฐ เพื่อให้ผลักดันการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานแทนน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 เพื่อส่งเสริมการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถผลิตได้เองในประเทศ อีกทั้งราคาเพียง 25-26 บาทต่อลิตร

เทียบกับเนื้อน้ำมันเบนซินที่ต้องนำเข้ามาผสมอยู่ที่ 34-35 บาทต่อลิตร แนวคิดดังกล่าวบางจากคาดว่าจะช่วยลดราคาน้ำมันลงได้ 0.80-1 บาทต่อลิตร เพราะการผสมเอทานอลทุก 10% จะประหยัดลง 1 บาท ซึ่งเป็นทางออกหนึ่งช่วงน้ำมันแพง”

มุมมองค่าการกลั่น

ขณะนี้กำลังหาข้อสรุปร่วมกับกระทรวงพลังงาน เรื่องการนำส่งกำไรค่าการกลั่นน้ำมันดีเซล การจัดเก็บค่าการกลั่นน้ำมันเบนซิน โรงแยกก๊าซเพื่อเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่าจะสรุปอย่างไร จะขอความร่วมมือหรือจะออกกฎหมายมาบังคับอย่างไร รูปแบบไหน บางจากพร้อมให้ความร่วมมือภายใต้กรอบของกฎหมายและการค้าเสรี เพราะบางจากเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ต้องชี้แจงผู้ถือหุ้นให้ได้ด้วย

“ค่าการกลั่นหรือคำถามที่ถามกันนี้เป็นเรื่องของชอร์ตเทอม ต้องดูกันยาว ๆ แต่อะไรที่เราทำได้ก็พร้อมที่จะทำ เหมือนกับที่ก่อนหน้านี้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น เราก็ออกแคมเปญทำคูปองลดราคาน้ำมันให้ลิตรละ 1 บาท เพื่อดูแลลูกค้าของปั๊ม แต่อยากให้มองว่ากรณีที่เกิดขึ้นมาจากผลกระทบระดับโลก ก็อยากให้มีมาตรการดูแลในระยะยาวมากกว่าหากอนาคตมีความเปลี่ยนแปลงอาจจะกระทบต่อความมั่นคง”

วางอนาคตธุรกิจสีเขียว

จากวิกฤตโลกร้อนเป็นเรื่องที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งจากเข้าร่วมประชุม World Economic Forum 2022 เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เรื่องหลัก ๆ ที่ผู้นำระดับโลกหารือกันมีอยู่ 3 เรื่อง คือ ปัญหาด้านพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ผลกระทบจากการขาดแคลนอาหาร และเงินเฟ้อ และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด

โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ green economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งกลุ่มบางจากมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำด้วยการกำหนดแผน BCP NET ครอบคลุม 4 แนวทาง มีเป้าหมาย carbon neutrality ในปี 2030 และ net zero ในปี 2050

หัวใจ BCP NET

B คือ breakthrough performance เน้นกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง ลดการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิตในโรงกลั่นน้ำมัน การเปิดสถานีบริการ net zero การใช้ไฟฟ้าจากระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) C คือ conserving nature and society สนับสนุนการสร้างสมดุลทางระบบนิเวศและเชื่อมโยงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ผ่านการดูดซับคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติ พัฒนากิจกรรมเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับคาร์บอนจากระบบนิเวศจากป่า (green carbon) เช่น โครงการปลูกป่าในโรงไฟฟ้าของบีซีพีจี และระบบนิเวศทางทะเล (blue carbon) ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แหล่งหญ้าทะเล ช่วยกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในแนวปะการังบริเวณเกาะหมากและเกาะกระดาด จ.ตราด

P คือ proactive business growth and transition เปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่พลังงานสะอาด เพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจสีเขียว เน้นขยายการลงทุนใหม่ ๆ ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ศึกษาเทคโนโลยีธุรกิจคาร์บอนต่ำ เช่น blue greenhydrogen เชื้อเพลิงทางเลือกคาร์บอนต่ำ เช่น เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือ sustainable aviation fuel (SAF) หรือน้ำมันกรีนดีเซล green diesel เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ปัจจุบันสัดส่วนธุรกิจสีเขียวคิดเป็นสัดส่วน 40% ของ EBITDA ของกลุ่มบางจาก คาดว่าจะเพิ่มเป็นอย่างน้อย 50% ในปี 2030

ท้ายสุด NET คือ net zero ecosystem สร้างระบบนิเวศเพื่อไปสู่เป้าหมาย net zero อาทิ การดำเนินธุรกิจขนส่งเชื้อเพลิงโดยบริษัท BFPL การให้บริการและจำหน่ายเชื้อเพลิงทางเลือกคาร์บอนต่ำ การจัดทำแพลตฟอร์มให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie การก่อตั้ง carbon markets club ส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่าน Syn Bio Consortium การสร้างวัฒนธรรมคาร์บอนต่ำในองค์กร Bangchak100x Climate Action

ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาบางจากลงนามข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาพื้นที่เกาะหมาก เป็นพื้นที่เป้าหมายแห่งแรกในโครงการแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำของประเทศไทย low carbon destination ที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกาะนี้มีความสำคัญมาก

เพราะมีหญ้าทะเลที่สามารถดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบนบกถึง 7-10 เท่า บางจากนำมอร์เตอร์ไซค์ไฟฟ้า Winnonie ไปให้ผู้ประกอบการทดลองใช้ พร้อมมอบอุปกรณ์ถุงมือเสื้อผ้าจากขวด PET และช่วยวิสาหกิจชุมชน โรงเรียนสู่ net zero

คาดการณ์ผลดำเนินงานปีนี้

ภาวะรัสเซีย-ยูเครนจะยังส่งผลต่อสถานการณ์พลังงานของโลก การดำเนินงานในไตรมาส 2 ถ้าดูจากกำลังการกลั่นแล้วสูงกว่าไตรมาส 1 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งในช่วงไตรมาส 2 ก็คาดว่าจะมีกำไรจากสต๊อกน้ำมันเล็กน้อย โดยกำลังการกลั่นของบางจาก ปัจจุบันที่ 122,000-123,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 102% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ภาพรวมในปี 2565 คาดว่าจะรักษาระดับการกลั่น ที่ 122,000 บาร์เรลต่อวัน

ส่วนการลงทุนหลังจากที่ OKEA ASA ซึ่งเป็นบริษัทย่อยบางจากถือหุ้นในสัดส่วน 46% ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายแหล่งปิโตรเลียมในทะเลเหนือ 3 แหล่ง (35.2% ในแหล่ง Brage 6.4% ในแหล่ง Ivar Aasen และ 6% ในแหล่ง Nova) จะเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมในปี 2565 ของ OKEA อีกประมาณ 5,000-6,000 บาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันผลิตที่ 2.5 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ยังมีโอกาสที่ OKEA จะซื้อแหล่งปิโตรเลียมใหม่เพิ่ม เนื่องจากในนอร์เวย์ยังมีแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ ศักยภาพในการผลิตถึง 1 แสนบาร์เรลต่อวัน