เปิดร่างยุทธศาสตร์ อีคอมเมิร์ซ ตั้งเป้า 5 ปี เพิ่มยอดขายเท่าตัว

นับวันธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ระบุว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยในปี 2560 มีมูลค่า 2,812,592 ล้านบาท ขยายตัว 9.86% รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ปรับตัวเข้าสู่ระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าในรูปแบบใหม่

ปีที่ผ่านมา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เป็นประธานในการจัดทำ “ร่างยุทธศาสตร์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 4 ด้าน 12 กลยุทธ์ เพื่อให้เกิดการพัฒนากับธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานไว้ 5 ปี (ปี 2560-2564) มีเป้าหมายจะเพิ่มมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยอีก 1 เท่าตัว จาก 4,556 ล้านบาทในปี 2560 เป็น 10,000 ล้านบาท จำนวนผู้ใช้ (user) เพิ่มขึ้นจาก 5.5 ล้านคน เป็น 10 ล้านคน จำนวนผู้ซื้อ (buyer) เพิ่มจาก 135,291 คน เป็น 400,000 คน จำนวนผู้ขาย (sellers) จาก 22,734 คน เป็น 50,000 คน

ล่าสุดแผนดังกล่าวผ่านการพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงพาณิชย์ เตรียมจะเสนอร่างแผนดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนมกราคมนี้

เปิดร่างยุทธศาสตร์ 4 ด้าน

สาระสำคัญของ “ร่างยุทธศาสตร์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” กำหนดให้มีคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และมีอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นเลขานุการ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ พร้อมทั้งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ เพื่อดำเนินการตามแต่ละยุทธศาสตร์ (อ่านกราฟิก) กล่าวคือ

ยุทธศาสตร์ 1 การเสริมสร้างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ มุ่งเน้นส่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการทำอีคอมเมิร์ซ และอำนวยความสะดวกทางการค้าสู่สากล โดยมีกลยุทธ์ 3 ด้าน 1) สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการเดิมและผู้ประกอบการรายใหม่ ให้สามารถส่งออกได้โดยใช้ระบบออนไลน์ 2) พัฒนาสินค้าและบริการให้มีมูลค่าเพิ่ม 3) ส่งเสริมการตลาดอีคอมเมิร์ซทั้งในและต่างประเทศ

ยุทธศาสตร์ 2 ส่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการทำอีคอมเมิร์ซ และอำนวยความสะดวกทางการค้าสู่สากล โดยมี 3 กลยุทธ์ คือ 1) ยกระดับการชำระเงินที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ 2) ใช้ประโยชน์และส่งเสริมการยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการโลจิสติกส์สำหรับอีคอมเมิร์ซแบบครบวงจร และ 3) เชื่อมโยงระบบภาครัฐเพื่อลดขั้นตอน

ยุทธศาสตร์ 3 เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพปัจจัยสนับสนุน มี 4 กลยุทธ์ คือ 1) พัฒนาองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้แบบบูรณาการ 2) พัฒนาคลังข้อมูลเพื่อต่อยอดอีคอมเมิร์ซในเชิงธุรกิจ 3) เข้าถึงแหล่งเงินทุนและมาตรการจูงใจ 4) ลดอุปสรรค และปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ และยุทธศาสตร์ 4 สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อและผู้ขาย มีกลยุทธ์ที่จะพัฒนากลไกการกำกับดูแลตนเอง (self-regulation) เพื่อเป็นแนวปฏิบัติที่ดี และสร้างกลไกการคุ้มครองผู้บริโภค (con-sumer protection)

หนุนส่งออกผ่าน e-Marketplace

“นายสมเด็จ สุสมบูรณ์” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีนโยบายที่เน้นพัฒนาผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อการส่งออก และผลักดันสินค้าไทยให้ไปอยู่บน e-Marketplace ชั้นนำระดับโลก ตลอดจนพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือของประเทศ

โดยกรมจัดทำดิจิทัลแพลตฟอร์ม “Thaitrade.com” มา 6 ปีแล้ว นับจากเดือนกรกฎาคม 2554 ถึงปัจจุบันมีสมาชิก 158,000 ราย เป็นผู้ขาย 20,000 ราย ผู้ซื้อ 130,000 ราย มียอดการเข้าชมสินค้า 5 ล้านกว่าครั้ง และมีมูลค่าการซื้อขายรวม 120,000 ล้านบาท สำหรับสินค้าหลักที่ได้รับความนิยม คือ อาหาร และเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีความแข็งแกร่ง

สเต็ปต่อไปปี’61 ยกระดับแพลตฟอร์ม

ในช่วงเริ่มต้น “Thaitrade.com” เป็นเพียงการจับให้ผู้ซื้อผู้ขายมาเจอกัน แต่ปัจจุบันได้จับพันธมิตรที่เป็นสถาบันการเงิน และผู้ประกอบการด้านการขนส่งสินค้าและผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ทำให้สามารถสั่งซื้อสินค้าและชำระเงินบนเว็บได้ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาระบบและสร้างความเชื่อมโยงกับผู้บริการระดับโลก เช่น Amazon, Alibaba, e-Bay, JD.com และ GmarketAfrica เชื่อมโยงไปยังผู้ค้าในตลาดใหม่ ๆ

สเต็ปต่อไป กรมได้หารือกับ Amazon ขอให้มีการเพิ่มช่องทาง “Thai Chanel” ขึ้น ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ซื้อที่ต้องการสินค้าไทยสามารถลิงก์เข้าสู่ช่องทางนี้ได้ทันที

พร้อมกันนี้ยังได้เตรียมประสานเพื่อแก้ไขปัญหาด้าน “ระบบการสต๊อกและกระจายสินค้า” กล่าวคือ ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซในต่างประเทศจะมีระบบการให้บริการ “แวร์เฮาส์” สำหรับซัพพลายเออร์ต่างประเทศ เช่น หากสินค้าใดมียอดขายดี (hot item) ในสหรัฐ ควรมีการเช่าพื้นที่แวร์เฮาส์ไว้สำหรับเก็บสินค้าเพื่อรอการจัดส่ง โดยผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซจะเป็นผู้บริหารจัดการและจัดส่งให้ หากดำเนินการเรื่องนี้ได้สำเร็จ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการส่งออก จะสามารถลดต้นทุนการจัดส่งสินค้ารายชิ้นได้ และยังช่วยให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ในภาวะที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีการแข่งขันอย่างรุนแรง

cross border e-Commerce

ด้านสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการค้ายุคใหม่ (NEA) ภายใต้สังกัดกรมฯ จัดให้มีหลักสูตรฝึกอบรมผู้ประกอบการเข้าใจวิธีการทำธุรกิจผ่านอีคอมเมิร์ซ ตลอดจนการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการกำหนดราคาและส่งมอบสินค้าผ่านแดนในระบบอีคอมเมิร์ซ (cross border e-Commerce) ซึ่งผู้ขายจะตั้งราคาสินค้าและแจ้งบนเว็บรวมค่าบริการจัดส่ง ส่วนอัตราภาษีนำเข้า เป็นหน้าที่ของผู้นำเข้าจะต้องไปชำระที่ปลายทางตามอัตราของแต่ละประเทศ ซึ่งขณะนี้ในบางประเทศยังไม่มีการเก็บภาษีนี้ เพราะไม่มีระบบตรวจสอบ หรือผู้ให้บริการโลจิสติกส์บางรายจะเหมาแบบ door to door ไปเลย ซึ่งประเด็นนี้ทางกรรมการยุทธศาสตร์ต้องมาดูแลและปิดช่องโหว่ให้หมด

นอกจากนี้ กรมได้มอบให้สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 59 แห่งทั่วโลก เร่งประชาสัมพันธ์ให้คู่ค้ารู้จักแพลตฟอร์มนี้มากขึ้น เพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่ ๆ โดยเฉพาะตลาดเป้าหมายที่ต้องการรุก เช่น จีน ซึ่งเป็นตลาดที่อีคอมเมิร์ซขยายตัวมาก หรือในอาเซียน ที่ไทยค่อนข้างจะเป็นผู้นำการค้า และตลาดอินเดีย ที่เป็นลูกค้าที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บ Thaitrade มากที่สุดเป็นอันดับ 1 และอาจจัดคณะไปโรดโชว์เสริมด้วย

หากไทยยกระดับการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้ตามแผน คาดว่าภาพรวมการส่งออกปี 2561 ที่หลายฝ่ายมองว่าจะขยายตัว 5-6% ซึ่งจะรวมรายได้ในส่วนของอีคอมเมิร์ซที่มีการส่งสินค้าผ่านแดนเข้าไปด้วย คงเป็นเรื่องที่สำเร็จได้ไม่ยาก