ม.ขอนแก่น กางแผนปรับภูมิทัศน์ สร้าง KKU Square เป็นแลนด์มาร์ก

ม.ขอนแก่น
ภาพจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

มหาวิทยาลัยขอนแก่น กางแผนปรับภูมิทัศน์ทั่วมหาวิทยาลัย ปักหมุดสร้าง KKU Square เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ 

วันที่ 23 กันยายน 2565 ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดโครงการเสวนา Reinventing KKU Campus โดยมีคณะผู้บริหารเข้าร่วมจำนวนมาก เพื่อหารือนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่ดีในด้านการพัฒนากายภาพ ด้านสวัสดิการ และด้านที่อยู่อาศัย ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบุคลากร เพราะมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีเรื่องที่จะต้องทำเป็นจำนวนมาก ซึ่งควรจะทำด้วยกันกับพนักงานทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องของกายภาพ ภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย ซึ่งเล็งเห็นว่าจะต้องมีการปรับปรุง 

จากอดีตป่ารกทึบ

ดร.ณรงค์ชัยกล่าวต่อว่า สืบเนื่องจากปัญหาของแคมปัสในอดีต อยู่ท่ามกลางป่ารกทึบ แหล่งน้ำวัชพืชหนาแน่น ที่อยู่อาศัยของบุคลากรไม่ค่อยน่าอยู่ อาคารสำนักงานบางหน่วยงานมีสภาพทรุดโทรม ขยะมีจำนวนมาก อีกทั้งการจราจรยังหนาแน่น สถานที่จอดรถไม่เป็นระเบียบ ส่งผลต่อภูมิทัศน์โดยรอบ 

ซึ่งที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงแก้ไขปัญหามาโดยตลอด มีการจัดพื้นที่ป่าให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงามขึ้น มีการปรับพื้นที่บึงสีฐานให้เป็นพื้นที่สันทนาการให้ประชาชนมาพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย วิ่ง ปั่นจักรยาน รวมถึงการใช้พื้นที่บึงสีฐานจัดงาน Festival ตลอดจนรื้ออาคารสำนักงาน และบ้านพักอาศัยของบุคลากรที่มีสภาพทรุดโทรม เพื่อปรับพื้นที่ให้มีความสวยงามและสามารถใช้ประโยชน์ได้ และจัดการพื้นที่เก็บขยะให้มีระเบียบเป็นสัดส่วน

บึงสีฐานมข.
ภาพจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ดร.ณรงค์ชัยกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงพื้นที่ห้องประชุม อาทิ ศูนย์ประชุมกาญจนาภิเษก, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์, พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา, TCDC หรือศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ,อาคาร 50 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์, อาคารวิทยวิภาส

และยังมีเป้าหมายการปรับปรุงพื้นที่อาคารสำนักงานอธิการบดี ที่มีความเห็นกันว่าต้องปรับพื้นที่เป็น KKU Square ที่มีความสง่างาม ที่เป็นพื้นที่ศูนย์กลาง การแสดงผลงาน ด้านศิลปวัฒนธรรมการศึกษา งานวิจัย

กาง 7 แผนปรับภูมิทัศน์

เพราะฉะนั้นโจทย์ใหญ่ของการปรับปรุงพื้นที่มหาวิทยาลัยต่อจากนี้ คือการทำโซนนิ่ง เน้นจุด KKU Square จุดศูนย์กลางนักศึกษา โดยได้จัดทำเป็นแผน Reinventing KKU campus ที่จะประกอบไปด้วย 1.ผังแม่บทมหาวิทยาลัยขอนแก่น 2.การจัดพื้นที่หอพักนักศึกษา 3.การจัดพื้นที่ที่พักบุคลากร 4.การสร้างแลนด์มาร์คของมหาวิทยาลัย 5.การปรับปรุงคอมเพล็กซ์ 6.การปรับพื้นที่อาคารสิริคุณากร 7.การสร้างพื้นที่ที่จอดรถของมหาวิทยาลัย 

ม.ขอนแก่น
ภาพจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

สร้างหอพักใหม่ 9 หลัง

ด้าน รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าหลังรับตำแหน่งอธิการบดีเรื่องแรกที่ทำคือ ผังแม่บทมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ Master Plan มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉบับล่าสุดอายุเกิน 20 ปีแล้ว จึงจะต้องทำผังแม่บทใหม่ให้สอดคล้องกับนโยบายของสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น 

เรื่องที่สองเป็นเรื่อง แนวคิดการสร้างหอพักนักศึกษาเพิ่มในมหาวิทยาลัย เนื่องจากเรามีนักศึกษาระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท และปริญญาเอก พักในหอพัก รวมเป็น 10,000 คน ยังคงมีนักศึกษาอีก 22,000 คนที่พักอยู่รอบ ๆ มหาวิทยาลัย ในสภาพแวดล้อมที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง อีกทั้งราคาที่พักสูง

“จึงมีการกำหนดพื้นที่บริเวณด้านทิศเหนือของมหาวิทยาลัยประมาณ 11 ไร่ สามารถสร้างหอพัก 8 ชั้นได้ประมาณ 5 หลัง รองรับนักศึกษาได้ประมาณ 2,000 คน อีกโซนอยู่หลังปั๊มน้ำมัน ประมาณ 13 ไร่ สามารถสร้างหอพักรองรับได้อีก 3,000 คน รวมสองโซนพักได้ประมาณ 5,000 คน ซึ่งจะไม่กระทบกับหอพักข้างนอก และจะสร้างพื้นที่มีความร่มรื่นน่าอยู่ มี co-space ที่สามารถนั่งประชุม หรือทำงานร่วมกัน มีสนามกีฬาให้ได้ออกกำลังกาย และมีพื้นที่สันทนาการต่าง ๆ โดยจะเป็นห้องที่มีเครื่องปรับอากาศและห้องน้ำในตัว”

เรื่องที่สาม คือที่พักสำหรับบุคลากร พื้นที่ South Campus Zone อยู่บริเวณตรงข้ามพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ แถบบึงสีฐาน สามารถสร้างอาคารหอพักบุคลากร 4 หลัง ในพื้นที่16.5 ไร่ จำนวนห้องพัก 960 ห้อง ทั้งห้อง Single และห้อง Family เพิ่มพื้นที่ส่วนกลาง จะมีสระว่ายน้ำ มีสนามกีฬามีส่วนพักผ่อน เพื่อให้บุคลากรใช้ชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพ มี working space มีที่พักอยู่ใกล้ มีรถชัทเทิลบัสวิ่งผ่านให้บริการ

ปั้น KKU Square เป็นแลนมาร์ก

เรื่องที่สี่คือ Landmark ของมหาวิทยาลัย จะทำให้ KKU Square เป็นจุดศูนย์รวมพล และทำให้เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการออกแบบให้ทันสมัย สวยงาม เหมาะกับการใช้งาน และยังมีพื้นที่ด้านสวนรุกขชาติที่สามารถปรับพื้นที่ให้นักศึกษาได้ใช้พื้นที่ทำกิจกรรมได้อย่างเต็มที่ พร้อมกับจะทำสะพานทางเดินลอยฟ้าเชื่อมกับอาคารศูนย์สารสนเทศ และอาคารสิริคุณากรที่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

และเรื่องสุดท้ายคือที่จอดรถของมหาวิทยาลัย สำหรับผู้ใช้บริการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลทันตกรรม ศูนย์หัวใจสิริกิติติ์รวมทั้งรถของบุคลากร ในแต่ละวันมีรถเข้ามาวันละหลายพันคัน ร่วมกับเอกชนเข้ามาก่อสร้างลานจอดรถ ทำให้เกิดพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อเป็นการสร้างรายได้อีกด้วย

ม.ขอนแก่น

ม.ขอนแก่น

ม.ขอนแก่น