อาชีวะจัดงานใหญ่โชว์นวัตกรรมจากนักศึกษาทั่วประเทศ 10-12 ก.พ.นี้

อาชีวะจัดงานใหญ่โชว์นวัตกรรม

อาชีวะจัดงานใหญ่โชว์สุดยอดผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์จากนักศึกษาทั่วประเทศ ระหว่าง 10-12 ก.พ. 2566 ที่ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานแถลงข่าว การจัดงานประกวด/ประเมินสิ่งประดิษฐ์ ของคนรุ่นใหม่ ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2565 “สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา”

ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้กำหนดจัดงานการประกวด/ประเมินสิ่งประดิษฐ์ ของคนรุ่นใหม่ ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2565 “สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา” ระหว่างวันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ชั้น 5 ศูนย์การค้า เซียร์ รังสิต จ.ปทุมธานี เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

โดยมุ่งเน้นพัฒนาทักษะด้านกระบวนการวิจัย และทักษะด้านการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนอาชีวศึกษา สอดคล้องตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ยกระดับคุณภาพการศึกษา เพื่อสร้างแรงกระตุ้น แรงบันดาลใจ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ประยุกต์ใช้องค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญเฉพาะในแต่ละสาขาวิชาที่เรียน และจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะ โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ และทักษะด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) ตลอดจนการเชื่อมโยงกับปัญหาหรือความต้องการในเชิงพื้นที่ (Area-based Learning)

พัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์สู่การใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ที่สามารถสร้างทั้ง “คุณค่า” ในระดับชุมชน สังคม และประเทศชาติ ตลอดจนขยายผล สู่การสร้าง “มูลค่า” ในเชิงพาณิชย์ นับเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญของผู้เรียนอาชีวะในการแสดงศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ของนักประดิษฐ์อาชีวศึกษาให้เป็นที่ประจักษ์ ให้สาธารณชนเห็นถึงพลังของคนรุ่นใหม่

เลขาธิการกล่าวต่อไปว่า การจัดงานสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษาระดับชาติ เป็นการคัดเลือกผลงานที่ผ่านการประกวด/ประเมิน จากสถานศึกษาทั่วประเทศ 5 ภาค ใน 6 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่ 1 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ประเภทที่ 2 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ ประเภทที่ 3 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานสิ่งแวดล้อม ประเภทที่ 4 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอาหาร ประเภทที่ 5 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ (Health Care)

และประเภทที่ 6 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ ที่มีความโดดเด่นใช้ความสามารถนำทักษะ คิดค้น วิจัย ต่อยอดองค์ความรู้ มาพัฒนาตอบโจทย์ในด้านต่าง ๆ ตอบสนองและเติมเต็มต่อปัญหาในมิติต่าง ๆ ทั้งเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว สถานศึกษา ชุมชน และสังคม จากผลงานทั้งสิ้นจำนวน 3,653 ผลงาน และมีผลงานเข้าร่วมในระดับชาติ จำนวน 120 ผลงาน

ทั้งนี้ มีผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่เข้ารอบในระดับชาติ นำมาจัดแสดงมี 12 ผลงาน ดังนี้

ประเภทที่ 1 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี การเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ชื่อสิ่งประดิษฐ์ : มินิสมาร์ทฟาร์มกบ / วิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์

ประเภทที่ 2 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์
ชื่อสิ่งประดิษฐ์ : ตู้รับซื้อขวดพลาสติกรีไซเคิลคัดแยกด้วยระบบ AI / วิทยาลัยเทคโนโลยีโปลิเทคนิคลานนา เชียงใหม่

ประเภทที่ 3 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงาน สิ่งแวดล้อม
ชื่อสิ่งประดิษฐ์ : วาล์วน้ำอัตโนมัติด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ / วิทยาลัยการอาชีพแม่น้ำแคว กาญจนบุรี

ประเภทที่ 4 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอาหาร
ชื่อสิ่งประดิษฐ์ : นาซิดาแฆ รองแง็ง บาร์ / วิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา
ชื่อสิ่งประดิษฐ์ : ไข่มุกป๊อปน้ำส้มโอพลังงานต่ำ Low Calories of Pop Pomelo Juice / วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม

ประเภทที่ 5 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ (Health Care)
ชื่อสิ่งประดิษฐ์ : ชุดสเกตบอร์ดมือบำบัดแขน / วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก
ชื่อสิ่งประดิษฐ์ : หุ่นยนต์ช่วยฝึกเดินสำหรับฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต / วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา

ประเภทที่ 6 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์
ชื่อสิ่งประดิษฐ์ : อนุญาโตตุลาเกม ตอน สังเวียนมวย / วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ
ชื่อสิ่งประดิษฐ์ : เข็มกลัดจากดิ้นโบราณ Brooch from Ancient Tinsel / วิทยาลัยพณิชยการบางนา
ชื่อสิ่งประดิษฐ์ : กล่องกันลืม (Smart Box) / วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช

ผลงานรางวัล ระดับนานาชาติ
ชื่อสิ่งประดิษฐ์ “หุ่นยนต์ช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยอัมพฤกษ์-อัมพาต” (Walking Robot for Rehabilitation of Paralysis Patient) วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา
รางวัล Gold Prize จาก Korea Invention Promotion Association ซึ่งเป็นเหรียญทอง
รางวัลยอดเยี่ยมในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ และ Special Award จาก Taiwan Invention Association
รางวัลพิเศษสำหรับสิ่งประดิษฐ์ที่มีศักยภาพ จากงาน Seoul International Invention Fair 2022″ (SIIF2022)

ผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ด้านความปลอดภัย
ชื่อสิ่งประดิษฐ์ : อุปกรณ์ไม้ง่ามระงับเหตุ /วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกมหานคร