อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ ลุยต่อ ครม.อนุมัติงบฯกลาง 97 ล้าน

ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ตรีนุช ขอบคุณประยุทธ์ ไฟเขียวใช้งบฯกลาง 97 ล้านบาท เดินหน้าอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ ประจำปี 2566

วันที่ 29 ธันวาคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดำเนินโครงการอาชีวะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนเพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ (อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ)

โดยนำร่องในสถานศึกษาสังกัด สอศ.จำนวน 88 แห่ง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ระยะที่ 1) ก่อนแล้วให้กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินโครงการ ระยะที่ 1 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทาง สอศ.ได้เสนอคำขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แต่ไม่ได้รับการพิจารณาในขั้นกรรมาธิการ จึงไม่มีงบฯดำเนินโครงการในปีงบฯ 2566 นั้น

เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง ศธ.จึงได้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบฯกลางรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 99,960,000 บาท ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าสำนักงบประมาณได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ซึ่งนายกฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นชอบให้ ศธ. โดย สอศ.ใช้จ่ายจากงบฯกลางรายการเงินสำรองจ่ายปีงบฯ 2566 ได้จำนวน 97,680,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนในโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ

โดยเบิกจ่ายในงบฯเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป ส่วนค่าบริหารจัดการ จำนวน 2,280,000 บาท ให้ สอศ.ปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปดำเนินการ

“ดิฉันขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่สนับสนุนโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ ซึ่งการนำร่องระยะที่ 1 ในสถานศึกษาสังกัด สอศ.จำนวน 88 แห่ง เป็นวิทยาลัยเทคนิค 2 แห่ง วิทยาลัยการอาชีพ 39 แห่ง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 47 แห่ง มีนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในโครงการ รวมประมาณ 4,000 คน

โดยนักศึกษาจะได้รับฟรีทั้งการเรียน ที่พัก อาหาร ครูดูแลหอพัก และกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต ซึ่งขณะนี้ ศธ.ได้จัดทำรายงานการติดตามและประเมินผลโครงการ เบื้องต้นแล้ว ซึ่งจะได้นำเสนอ ครม.รับทราบเพื่อพิจารณาขยายผลการดำเนินโครงการฯและขอรับการสนับสนุนงบประมาณในปีต่อ ๆ ไป

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ทำให้สามารถให้การช่วยเหลือเยาวชนในกลุ่มที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา และกลุ่มที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ยากจน ตลอดจนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมด้วยการได้รับโอกาส ความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ และมีความเท่าเทียมกันทางการศึกษา” รมว.ศธ.กล่าว