ทำความรู้จัก 6 หลักสูตรแซนด์บอกซ์ ที่ตลาดพร้อมแย่งตัวเข้าทำงาน

ทำความรู้จัก 6 หลักสูตรแซนด์บอกซ์ เน้นเรียนจบเร็ว มีประสบการณ์
ภาพจาก:มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ทำความรู้จัก 6 หลักสูตรแซนด์บอกซ์ ที่สถาบันการศึกษา และภาคธุรกิจร่วมกันพัฒนา เมื่อเรียนจบตลาดพร้อมแย่งตัวเข้าทำงานทันที

วันที่ 12 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาทั้งด้านกฎหมาย นโยบาย มาตรการที่หลากหลาย เพื่อปฏิรูประบบการอุดมศึกษาให้เท่าทันโลก และความต้องการกำลังคนที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยหนึ่งในแนวทางสำคัญที่กระทรวง อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันขับเคลื่อนคือ การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) หรือเรียกสั้น ๆ ว่าหลักสูตรแซนด์บอกซ์ เป็นแนวทางการจัดการศึกษาแบบใหม่ที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดเดิม ๆ มุ่งเน้นผลิตคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคการผลิต เช่นเรียนกับผู้เชี่ยวชาญ พร้อมฝึกประสบการณ์ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ

ซึ่ง ณ ปัจจุบันหลักสูตรแซนด์บอกซ์ได้รับการอนุมัติแล้วทั้งสิ้น 6 หลักสูตร และบางหลักสูตรเริ่มเปิดรับสมัครนิสิต-นักศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2566 เป็นต้นไป ดังต่อไปนี้ 

1.หลักสูตรการผลิตและพัฒนากำลังคนสาขาฉุกเฉินการแพทย์

เป็นความร่วมมือระหว่าง 10 สถาบัน ได้แก่ 1.วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 2.มหาวิทยาลัยมหิดล 3.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4.มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 5.มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 6.มหาวิทยาลัยพะเยา 7.มหาวิทยาลัยบูรพา 8.มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ 9.สถาบันพระบรมราชชนก 10.สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สถาบันพระบรมราชชนก 

ทั้งนี้การบริการการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล เป็นงานบริการที่มีความสำคัญต่อระบบสุขภาพของประเทศ โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า การที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการปฏิบัติการทางการแพทย์ขั้นสูงตั้งแต่เมื่ออยู่นอกโรงพยาบาล ทำให้มีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ ดังนั้นการบริการการแพทย์ฉุกเฉินจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่บริบาลผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล

ประเทศไทย ได้เริ่มมีการจัดการศึกษาด้านฉุกเฉินการแพทย์ระดับปริญญามาแล้วประมาณ 13 ปี ตราบจนปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สำเร็จการศึกษาสาขาฉุกเฉินการแพทย์ที่มีความสามารถในระดับนี้จำนวน 674 คน (ข้อมูลเดือนเมษายน พ.ศ. 2565) และมีอัตราการผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์เพียงปีละ 180-200 คนเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ

ดังนั้นหน่วยงานที่จัดการศึกษาด้านฉุกเฉินการแพทย์ระดับปริญญาในประเทศไทย จึงได้ร่วมกันหาทางออกเพื่อให้ประเทศมีบุคลากรด้านฉุกเฉินการแพทย์ที่มีความสามารถระดับสูงอย่างเพียงพอและรวดเร็ว โดยตั้งเป้าผลิตกำลังคนสาขาฉุกเฉินการแพทย์ ระดับผู้ประกอบโรคศิลปะ จำนวน 15,000 คน ภายใน 10 ปี (2566-2567)

2.หลักสูตรการผลิตบุคลากร High-tech Entrepreneur

นำโดย International School of Management (ISM) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ Harbour.Space University ประเทศสเปน, หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (Thaichamber) และบริษัทต่าง ๆ จะร่วมกันสร้างผู้ประกอบการที่มีทักษะทางเทคโนโลยีขั้นสูง

เช่น เจ้าของธุรกิจสตาร์ตอัพ เจ้าของสินค้าที่มีนวัตกรรม หรือทำงานกับองค์กรในสายงานพัฒนาธุรกิจ เป็นต้น โดยจะมีมืออาชีพระดับโลก อาทิ Mr.Kamran Elahian จาก Silicon Valley สหรัฐอเมริกา ผู้มีประสบการณ์สร้างบริษัท Startup ในระดับ Unicorns 4 บริษัท เป็นหัวหน้าหลักสูตร และเป็นผู้สอนในวิชา From Zero to Hero และ Ms.Ann Hiatt ผู้ที่วงการ startup และ Tech ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาในฐานะ Executive Business Partner ของ Jeff Bezos (CEO ของ Amazon) และ Chief-of-Staff ของ Eric Schmidt (CEO และประธานบริหารของ Google/Alphabet)

หลักสูตรนี้ตั้งเป้าผลิตกำลังคนด้านเทคโนโลยี จำนวน 400 คน ภายใน 7 ปี 

3.หลักสูตรการผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัล

นำโดยมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยมหิดล,มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, และมหาวิทยาลัยขอนแก่น

จัดตั้งสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI Engineering Institute; AIEI) ขึ้นเพื่อเป็นแกนกลางในการช่วยประสานงานระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อร่วมกันจัดการศึกษา แบ่งปันทรัพยากร เเละเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยในเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

หลักสูตรนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลของประเทศที่มีศักยภาพตามสาขาความต้องการด้าน AI เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 หรือประมาณ 7 แสนคน ภายใน 7 ปี เพื่อยกระดับขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ ที่สำคัญการเรียนจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามความสนใจ ความถนัด และก้าวหน้าไปตามความสามารถของตนได้อย่างอิสระ อีกทั้งผู้เรียนยังสามารถสำเร็จการศึกษาได้ภายใน 3 ปี โดยไม่ขึ้นกับระยะเวลาเรียน

นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีโอกาสทำโปรเจกต์ต่อเนื่องตั้งแต่ปีแรกร่วมกับองค์กรภาคเอกชนในอุตสาหกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น หัวเว่ย, ทรู,เอไอเอส, ไมโครซอฟท์ และอื่น ๆ คาดว่าจะมีการผลิตบุคลากรไม่น้อยกว่า 1,880 คน ภายใต้หลักสูตรนี้

4.หลักสูตรการผลิตกําลังคนศักยภาพสูงที่มีความรู้เชิงลึกด้านวิทยาศาสตร์และแนวคิดเชิงนวัตกรรม

นำโดยวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชวิทย์) สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และสถาบันอุดมศึกษา ตั้งเป้าผลิตกําลังคนทักษะสูงที่มีความรู้เชิงลึกด้านวิทยาศาสตร์ และแนวคิดเชิงนวัตกรรม 175 คน ภายใน 9 ปี 

5.หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล

เป็นหลักสูตรของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มุ่งเน้นผลิตคนที่มีทักษะทางด้านดิจิทัลสูง ซึ่งตั้งเป้าผลิตรุ่นแรก 1,200 คน 

จุดเด่นของหลักสูตรนี้คือการเปิดโอกาสให้นิสิตได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพผ่านการฝึกงานสม่ำเสมอทุกชั้นปี คือเรียนทฤษฎีของแต่ละชั้นปีจบก็จะได้ฝึกงานทุกปี โดยจะได้รับประกาศนียบัตร (Certificate) รับรองรายภาคการศึกษา หรือกล่าวง่าย ๆ ว่าเมื่อเรียนจบแต่ละชั้นปีนักศึกษาสามารถออกไปประกอบอาชีพได้ด้วยโดยสะสมหน่วยกิตไว้ในคลังหน่วยกิต เมื่อพร้อมกลับมาเรียนก็สามารถมาเรียนต่อได้ทันที 

รวมทั้งใช้เทคโนโลยีออนไลน์ในการสอนทำให้สามารถรองรับนิสิตได้จำนวนมากขึ้น หรือราวปีละ 300 คน และใช้โจทย์จริงจากภาคอุตสาหกรรมในการทำโครงงาน และในอนาคตยังสามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการ Thailand Plus Package ในการจับคู่ตำแหน่งงานให้นิสิตมีงานทำทั้งในระหว่างเรียนและหลังจบการศึกษา และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับสถานประกอบการสำหรับการจ้างงานบุคลากรอีก 1.5 เท่า

6.หลักสูตรการจัดการบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการบินนานาชาติ

เป็นหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก เพิ่มการผลิตกำลังคนในกลุ่มพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน จุดเด่นของหลักสูตรนี้เป็นการจัดการศึกษาร่วมกับภาคผู้ใช้บัณฑิตอย่างเข้มข้น ใช้ผู้สอนที่มีประสบการณ์ตรงในสายงาน 

อีกทั้งเป็นหลักสูตรมาตรฐานระดับสากลได้รับการรับรองจากองค์กรการบินนานาชาติ ICAO/IATA พร้อมประกาศนียบัตร โดยบัณฑิตทุกคนจะได้รับการจ้างงาน 100% รวมถึงยังเปิดโอกาสให้กลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 จากหลักสูตรอื่นสามารถเข้าศึกษาและได้รับปริญญาใบที่สอง หรือ Double Degree ได้ โดยทั้ง 2 หลักสูตรที่ได้รับการอนุมัตินี้ สามารถให้สถาบันอุดมศึกษาอื่นใช้เป็นต้นแบบในการดำเนินการในลักษณะเดียวกันได้