ติดตั้ง Solar Rooftop ใน 19 วิทยาลัยชุมชน คาดช่วยลดค่าไฟได้ 15-20%

โซลาร์รูฟ
PHOTO : PIXABAY

สถาบันวิทยาลัยชุมชน ผนึกมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ติดตั้ง Solar Rooftop ให้วิทยาลัยชุมชน 19 แห่งทั่วประเทศ ก้าวไปสู่สถาบันอุดมศึกษาสีเขียว สร้างความตระหนักลดโลกร้อนให้นักศึกษาและบุคลากร คาดช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ 15-20%

วันที่ 24 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (23 ส.ค.) ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร สถาบันวิทยาลัยชุมชน (ส.วชช.) โดยนายเจริญชัย วงษ์จินดา รักษาการ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาลัยชุมชน ได้ลงนามในสัญญา การใช้และการให้บริการจัดการพลังงานไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) กับ มศว

โดย ผศ.ดร.รักไทย บูรพ์ภาค ประธานหลักสูตรวิศวกรรมนานาติ และนายเภคูน พูลสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอนเนอร์จีไทย เทรดดิ้ง ฮับ จำกัด มี ดร.สิริกร มณีรินทร์ นายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน และ ดร.เสฎฐา ศาสนนันทน์ ผู้ช่วยอธิการบดี มศว ร่วมเป็นสักขีพยาน

ดร.สิริกรกล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างสถาบันวิทยาลัยชุมชน และ มศว ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยผลักดันในด้านวิชาการ และการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม หรือการรักษ์โลกของนักศึกษา บุคลากร และผู้บริหารวิทยาลัยชุมชน (วชช.) โดยทาง มศว จะเข้ามาช่วยสำรวจ และจัดหาอุปกรณ์ติดตั้งการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือ Solar Rooftop ให้กับ วชช. จำนวน 19 แห่ง โดยไม่คิดมูลค่า เป็นระยะเวลา 20 ปี พร้อมการบำรุงรักษาตลอดระยะเวลาของความร่วมมือ

คาดช่วยลดค่าไฟได้ 15-20%

ดร.สิริกรกล่าวต่อว่า จากข้อมูลคาดว่า วชช.แต่ละแห่งจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าลงได้ประมาณ 15-20% ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะปัจจุบัน วชช.ต้องแบกรับภาระเรื่องค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนค่อนข้างสูง ที่สำคัญไปกว่านั้นการติดตั้ง Solar Rooftop ในครั้งนี้ยังช่วยโลกลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 180 ตันต่อปี หรือประมาณ 3,600 ตันตลอดอายุของสัญญา

“สถาบันวิทยาลัยชุมชนจะใช้ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และช่วยลดภาวะโลกร้อน ซึ่งขณะนี้อยู่ในภาวะวิกฤต และเป็นต้นเหตุของภัยทางธรรมชาติในประเทศไทย และทั่วโลก โดยจะมีการส่งเสริมให้ วชช.ทั่วประเทศทำเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อผลักดันไปสู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาสีเขียว หรือสถาบันอุดมศึกษาที่มีคาร์บอนต่ำ และจะใช้คาร์บอนเครดิตเป็นส่วนหนึ่งในการจัดลำดับสถาบันอุดมศึกษาในอนาคตด้วย” 

ด้าน ผศ.ดร.รักไทยกล่าวว่า หลังจากนี้ทาง มศว จะส่งทีมเข้าไปสำรวจความพร้อมในการติดตั้ง Solar Rooftop ให้กับ วชช. 19 แห่ง พร้อมทั้งขออนุญาตกับทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าไปติดตั้ง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน โดยทาง วชช.ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

เมื่อ วชช.เปิดระบบการใช้งาน Solar Rooftop แล้ว ทาง มศว จะเข้าทำการศึกษาวิจัยเรื่องความเข้มของแสง ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีแผนที่ความเข้มของแสงมานานกว่า 20 มาแล้ว แต่เนื่องจากในปัจจุบันเกิดภาวะวิกฤตโลกร้อน เราจำเป็นต้องศึกษาวิจัยใหม่ให้เป็นปัจจุบัน และการที่ วชช.มีอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จึงเหมาะกับการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้มาก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในเรื่องวิศวกรรมพลังงานของประเทศไทยอย่างมาก

วิทยาลัยชุมชน - มศว