สภานักเรียน เสนอ 4 ประเด็น แก้ปัญหาการศึกษา ต่อ ศธ.ในงานวันเด็กแห่งชาติ

สภานักเรียน เสนอ 4 ประเด็น แก้ปัญหาการศึกษา ต่อกระทรวงศึกษาธิการ ในงานวันเด็กแห่งชาติ

สภานักเรียน เสนอ 4 ประเด็น แก้ปัญหาการศึกษา ต่อกระทรวงศึกษาธิการ ในงานวันเด็กแห่งชาติ ด้าน “เพิ่มพูน” รมว.ศึกษา รับฟังความเห็น เร่งดำเนินการหาแนวทางแก้ไขต่อไป พร้อมฝากให้ทุกคนเรียนรู้ อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

วันที่ 13 มกราคม 2567 ในงานวันเด็กแห่งชาติ ที่กระทรวงศึกษาธิกาา พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดโอกาสให้คณะสภานักเรียน ซึ่งเป็นตัวแทนสภานักเรียนจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูที่ปรึกษาและคณะทำงานกว่า 200 คน เข้ารับโอวาท พร้อมนำเสนอข้อคิดเห็นจากแนวความคิดของเด็กในขอบเขตของกฎ กติกา ที่สามารถปฏิบัติได้ จากการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สัมมนาสภานักเรียนระดับประเทศ ประจำปี 2567

นายธนกฤต พิพัฒน์รัตนกุล ประธานสภานักเรียนระดับประเทศ และคณะสภานักเรียนฯ นำเสนอแนวคิดในการจัดการศึกษาของสังคมไทยในยุคปัจจุบัน โดยการจัดการศึกษาควรคำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ มีการสร้างความเข้าใจและพัฒนาตามวิถีประชาธิปไตย ตามที่สภานักเรียนระดับประเทศ มีการระดมความคิดเห็นในเรื่องของวิถีประชาธิปไตยในบริบทของสถานศึกษา สังคม ชุมชน และประเทศชาติ จึงเสนอประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1 การมีส่วนร่วมของสภานักเรียนในบทบาทของคณะกรรมการสถานศึกษา เนื่องจากสภานักเรียนถือเป็นองค์กรหนึ่งในโรงเรียนที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษา และส่งเสริมการศึกษาในระบอบประชาธิปไตยผ่านกระบวนการจัดการของสภานักเรียน ขอเสนอ 3 เรื่อง คือ 1.ให้สภานักเรียนเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 2. มีส่วนร่วมในการวางแผนและออกแบบการจัดการศึกษา และ 3. เข้าไปมีส่วนร่วมในการวัดผลและประเมินผลในการจัดการศึกษาและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ฯ

ประเด็นที่ 2 การรู้จักประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นของตนเองอย่างลึกซึ้ง ขอเสนอใน 4 เรื่อง คือ 1. ขอส่งเสริมให้เพื่อนนักเรียนและคนในชุมชนตระหนักรู้ถึงประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง 2. ขอส่งเสริมให้เพื่อนนักเรียนและผู้คนในชุมชนศึกษาประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้งและสร้างสรรค์ 3. ส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านโลกประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และ 4. การให้คณะสภานักเรียน มีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาประวัติศาสตร์

ประเด็นที่ 3 การรู้จักมารยาทการใช้โทรศัพท์ในห้องเรียน ขอเสนอ 3 เรื่อง คือ 1. ขอรับการส่งเสริมให้มีโครงการงดใช้โทรศัพท์ในห้องเรียน 2. สนับสนุนให้โรงเรียนนั้นให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาในการใช้โทรศัพท์ในเวลาเรียน และ 3. ขอส่งเสริมให้มีการติดตามอย่างต่อเนื่องในการแก้ปัญหาการใช้โทรศัพท์ในห้องเรียน

ประเด็นที่ 4 การส่งเสริมแนวทางการป้องกันการบูลลี่ในสถานศึกษา ขอเสนอ 4 เรื่อง คือ 1. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการนำประเด็นปัญหาการบูลลี่นำเข้ามติคณะรัฐมนตรีเพื่อออกกฎเกณฑ์ หรือร่างกฎหมายฯ ที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการบูลลี่ 2. จัดหาผู้เชี่ยวชาญ นักจิตวิทยาประจำโรงเรียน เพื่ออบรมให้ความรู้และเยียวยาสภาพจิตใจนักเรียนที่ตกเป็นเหยื่อของการบูลลี่ 3. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ ออกกฎหรือระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแจ้งไปยังสถานศึกษาทั่วประเทศ ให้แก้ไขเรื่องของการบูลลี่ในสถานศึกษาอย่างเข้มงวด และ 4. มีโครงการในการรวบรวมผลของการบูลลี่ ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบูลลี่ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ

ทั้งนี้ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน กล่าวให้โอวาท ตอนหนึ่งว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน และเน้นย้ำให้ รมว.ศธ. มาร่วมรับฟังทุกคนในวันนี้ ต้องขอบคุณคณะสภานักเรียนทุกคนที่ได้ร่วมแสดงความเห็น ถือเป็นการแสดงออกถึงความเป็นประชาธิปไตย กระทรวงศึกษาธิการเปิดโอกาสให้นักเรียนและประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น

ซึ่งประเด็นสำคัญใน 4 ประเด็น คือเรื่องการมีส่วนร่วมในการวัดและประเมินผลหรือการสอบนั้น จะต้องมีการหารือผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากนักเรียนเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการสอบ จึงอาจจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการคิดหรือกระบวนการเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบอื่น

เรื่องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ควรที่จะเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน บุคคลสำคัญในท้องถิ่น หรือผู้มีความรู้โดยตรง เพื่อให้ได้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ตรงตามประวัติศาสตร์ท้องถิ่น นอกเหนือจากการศึกษาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ก็ควรเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์สากล อีกประการหนึ่งคือการเรียนรู้การดำเนินตามเบื้องพระยุคลบาท ถือเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์จากบุคคลสำคัญของชาติ

ส่วนการรักษามารยาทการใช้โทรศัพท์ในห้องเรียนนั้น ถือเป็นอีกปัญหาที่มีผลสะท้อนมากจากนักเรียน ในฐานะเยาวชนยุคใหม่ อยากให้ทุกคนร่วมกันเป็นแบบอย่างที่ดี ประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างมารยาทในการใช้โทรศัพท์ แต่ถ้าเกินกว่าจะดำเนินการได้ก็ต้องหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อ โดยในฐานะ รมว.ศธ. ไม่อยากให้มีการบังคับ หรือบังคับใช้กฎต่าง ๆ ในเรื่องนี้ แต่อยากให้ใช้วิถีของประชาธิปไตยมาดำเนินการ

“ประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนคือการบูลลี่ในสถานศึกษา ก็ได้มีการเร่งรัดและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา ขอฝากน้องสภานักเรียนช่วยดูแลน้อง ๆ คอยสอดส่อง ช่วยเหลือและประสานครู อาจารย์ ในการหาวิธีการแก้ไข

ในส่วนของ ศธ. ก็จะเร่งดำเนินการในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป และขอฝากให้ทุกคนร่วมใจกันในการดำเนินงานต่าง ๆ ในโรงเรียนด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ พี่ดูแลน้อง เพื่อนดูแลเพื่อน ดำเนินตามแนวทางประชาธิปไตย เพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้า เป็นอนาคตที่ดีของชาติต่อไป“