อว.ลุยปทุมวันโมเดล เร่งออกแบบหลักสูตรเป็น “มหาวิทยาลัยในโรงงาน”

อว.ลุยปทุมวันโมเดล

อว-สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เดินหน้า “ปทุมวันโมเดล” เร่งวางแนวทางจัดการเรียนการสอน ชูจุดแข็งช่างกล-วิทยาการหุ่นยนต์-ระบบอัตโนมัติ ดึงผู้ประกอบการ-ศิษย์เก่าร่วมออกแบบหลักสูตร เน้นรูปแบบ “มหาวิทยาลัยในโรงงาน” เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย จบมามีงานทำทันที

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา อว.ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ “ปทุมวันโมเดล” กับสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน โดยมี รศ.ดร.เสถียร ธัญญศรีรัตน์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน คณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และศิษย์เก่าเข้าร่วม

โดยที่ประชุมหารือเป็นการร่วมหาแนวทางในการจัดทำรูปแบบการศึกษาปทุมวันโมเดล ตามนโยบายของ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. ที่จะมุ่งสร้างสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันให้เป็นเลิศในการพัฒนากำลังคนทางด้านช่าง ด้านวิศวกรรมศาสตร์ และลดปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักศึกษาระหว่างสถาบัน โดยออกแบบหลักสูตรภายใต้กรอบนโยบาย “เรียนดี มีความสุข มีรายได้” ที่ให้นักศึกษามีงานทำระหว่างเรียน เพื่อได้มีประสบการณ์ในสถานประกอบการจริงพร้อมกับมีรายได้ไปด้วย จบมาก็ได้งานทำอย่างต่อเนื่อง

โดยทางสถาบันจะหางานให้ทำเลยตั้งแต่เข้าเรียนปี 1 เพื่อให้นักศึกษาอยู่ในพื้นที่ทำงานมากกว่าอยู่ในสถาบัน ซึ่งปทุมวันโมเดลนี้อาจเป็นแนวทางใหม่ที่จะปลดล็อกปัญหาที่สะสมมาเป็นเวลานาน พร้อมกับการผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

ขณะที่ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว.ได้เสนอแนะแนวทางการวางรูปแบบการจัดการศึกษาแบบปทุมวันโมเดลว่า ทางสถาบันจะต้องคำนึงถึงจุดแข็งของตนเองที่เป็นสถาบันทางช่างที่เก่าแก่ มีศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จมากมาย และมีความเข้มแข็งทางด้านช่างกล วิทยาการหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ โดยนำแนวทางและกลไกต่าง ๆ ของ อว. เช่น เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรปี 2565 ที่เปิดกว้างให้สถาบันอุดมศึกษาทำงานร่วมกับองค์กรอื่น ๆ ในการผลิตบัณฑิตได้ง่ายขึ้น

การใช้ระเบียบหลักสูตรแซนด์บ๊อกซ์ที่ให้สถาบันอุดมศึกษาจัดทำหลักสูตรที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรได้ รวมถึงหลักสูตรในรูปแบบสหกิจศึกษา หรือบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เป็นต้น มาช่วยพัฒนาและจัดการเรียนการสอนให้ทันสมัยมากขึ้น

ทั้งนี้ หลักสูตรการเรียนการสอนควรเป็นการออกแบบร่วมกันกับสถานประกอบการ โดยจะต้องจัดการเรียนการสอนทั้งในสถาบันการศึกษาและสถานประกอบการ แต่เน้นในสถานประกอบการในรูปแบบ “มหาวิทยาลัยในโรงงาน” หรือ University in Factory พร้อมดึงศิษย์เก่าที่มีประสบการณ์มาร่วมสอนและพัฒนานักศึกษา การเรียนการสอนควรเป็นแบบโมดูล หรือชุดวิชา ใช้ระบบคลังหน่วยกิต ที่ผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตไว้ได้ มีการจัดทำ Skill Transcript เพื่อระบุทักษะของนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักศึกษาและสถานประกอบการรู้ทักษะของนักศึกษาและนำไปสู่การพัฒนาต่อไป

ด้าน รศ.ดร.เสถียร ธัญญศรีรัตน์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน กล่าวว่า หลังจากนี้ ทางสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันจะร่วมกับทาง อว. และศิษย์เก่า ในการปรับปรุงหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน ในทุกสาขาของสถาบัน โดยใช้ระเบียบและกลไกใหม่ ๆ ของ อว. ซึ่งปทุมวันโมเดลจะเป็นการพัฒนานักศึกษาสู่อนาคตที่ยั่งยืนเบื้องต้นคาดว่า การออกแบบหลักสูตร และการจัดการศึกษาแบบปทุมวันโมเดลจะเป็นรูปเป็นร่างภายใน 3 เดือน ซึ่งจะเป็นมิติใหม่ของอุดมศึกษาไทย