มหา’ลัยไทยรุกตลาดอาเซียน “เมียนมา” มาแรงแซงน.ศ. “กัมพูชา-ลาว”

education

มหา’ลัยรัฐ-เอกชนเปิดเกมเจาะตลาดนักศึกษาอาเซียน หวังดึงเรียนหลักสูตรนานาชาติ ล่าสุด สจล.โรดโชว์งานแฟร์การศึกษาที่ย่างกุ้ง โชว์จุดแข็งคณะวิศวะเอไอ, โรบอต จนนักศึกษาเมียนมาแห่มาเรียนคับคั่ง ขณะที่ ม.กรุงเทพเลือกเจาะตลาด CLMV โดยเฉพาะเวียดนาม เนื่องจากเศรษฐกิจกำลังเติบโต ขณะที่ตัวเลขจากกระทรวง อว.ชี้ชัดกลุ่มนักศึกษาเมียนมาแห่เรียนไทยมากที่สุด รองลงมาคือ กัมพูชา และลาว

ในช่วงเวลาหลายปีผ่านมา จำนวนนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนในสถาบันอุดมศึกษาของไทยมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง คือ นักศึกษาจากประเทศจีน ตามด้วยเมียนมาเป็นอันดับสอง จนเป็นที่น่าสังเกตว่าตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จำนวนนักศึกษาเมียนมาในแต่ละสถาบันอุดมศึกษา

โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบางมหาวิทยาลัยมีความร่วมมือทางวิชาการกับเมียนมามาก่อน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมหาวิทยาลัยบางแห่งเข้าไปโรดโชว์ทำการตลาด และประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนนักศึกษาเหล่านั้นมาเรียนที่ประเทศไทย

โดยล่าสุดมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย, สถาบัน และวิทยาลัยหลายแห่ง รวมถึงกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กว่า 32 สถาบันไปออกบูทงานมหกรรมด้านการศึกษาในเมียนมา ครั้งที่ 7 “7th Thai Education Fair Myanmar (2024)” เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ผ่านมา ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อเชิญชวนนักศึกษาเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยของไทย ขณะเดียวกัน นักศึกษาจากกลุ่มประเทศอาเซียนก็ให้ความสนใจที่จะมาเรียนในประเทศไทยเช่นกัน

นศ.เมียนมาแห่เรียนวิศวะ สจล.

“ผศ.ดร.พิชชา ประสิทธิ์มีบุญ” ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับ สจล. มีนักศึกษาต่างชาติทั้งหมดประมาณ 600 คน ในจำนวนนี้มีนักศึกษาจีน 200 คน

ขณะที่นักศึกษาเมียนมาเกือบ 200 คน ส่วนที่เหลือเป็นนักศึกษาจาก สปป.ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่านักศึกษาเมียนมาทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อาจด้วยสถานการณ์ทางการเมือง และสงครามภายในประเทศ จึงทำให้พวกเขาเบนเข็มมาเรียนที่ประเทศไทย กอปรกับคนรุ่นใหม่อยากออกนอกประเทศเพื่อมาเรียนในสถาบันอุดมศึกษาของไทยด้วย

“เพียงแต่พวกเขากระจายกันไปเรียนตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความชอบ และชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ด้วยว่ามีความโดดเด่นในเรื่องอะไร แต่สำหรับ สจล.มีความโดดเด่นด้านวิศวกรรมศาสตร์ ฉะนั้น นักศึกษาจากเมียนมาจึงเข้ามาเรียนหลักสูตรนานาชาติที่อยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์จำนวนมาก ทั้งในสาขาวิศวกรรมเคมี, วิศวกรรมคอมพิวเตอร์, เอไอ, โรบอต ฯลฯ ส่วนค่าเทอมของหลักสูตรอยู่ที่ 90,000 บาทต่อเทอม หรือประมาณ 1.8 แสนบาทต่อปี”

“เมื่อก่อน สจล.ประชาสัมพันธ์ในกลุ่มประเทศ CLMV จนเมื่อเกิดโควิด-19 จึงหยุดประชาสัมพันธ์ แต่ตอนนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น เราจึงส่งทีมประชาสัมพันธ์ไปโปรโมตในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น สปป.ลาว และอินโดนีเซีย และเมื่อต้นเดือน เม.ย.ผ่านมา เพิ่งไปออกบูทงานแฟร์ที่เมียนมา ตามคำเชิญชวนของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยร่วมกับหลาย ๆ สถาบัน และคาดการณ์ว่าน่าจะมีนักศึกษาเมียนมาสนใจมาเรียนเพิ่มขึ้น พอ ๆ กับนักศึกษาจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย”

“ที่สำคัญ มหาวิทยาลัยไทยก็ค่อนข้างชอบนักศึกษาเมียนมา เพราะขยันมีความมุ่งมั่น ตั้งใจเรียน สจล.ก็เห็นแนวโน้มว่าเมียนมาน่าจะเข้ามาศึกษาต่อในไทยเพิ่มขึ้น เพราะการศึกษาบ้านเราก็ถือว่าโดดเด่น หลายมหาวิทยาลัยก็ติดท็อปการจัดอันดับ ๆ ต่าง ๆ ของโลก เราก็พยายามจะเปิดตลาดมากขึ้นไม่เฉพาะเมียนมา แต่รวมถึงทุกชาติ พร้อมจัดหาทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาต่างชาติจำนวนหนึ่งมาให้ เพื่อดึงดูดให้พวกเขามาเรียนที่นี่”

ม.กรุงเทพรุกตลาดเวียดนาม

ขณะที่ “ผศ.ดร.ลักคณา วรศิลป์ชัย” รองอธิการบดีสายพัฒนาธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จำนวนนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียน ม.กรุงเทพ เพิ่มขึ้นตลอด 4-5 ปีผ่านมา เพราะมหาวิทยาลัยตั้งเป้าว่าแต่ละปีจะเพิ่มจำนวนนักศึกษาให้ได้ประมาณ 15-20% ซึ่งมหาวิทยาลัยก็สามารถทำได้ตามเป้าหมาย เหมือนอย่างล่าสุด ม.กรุงเทพมีนักศึกษาจากกลุ่มประเทศอาเซียนมาเรียนประมาณเกือบ 400 คน ในหลักสูตรนานาชาติ

สำหรับปัจจัยที่ทำให้นักศึกษาเหล่านั้นมาเรียนที่ ม.กรุงเทพ เพราะประเทศไทยมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับประเทศของเขา ไม่ต้องปรับตัวมากเกินไป นอกจากนั้น หลักสูตรนานาชาติราคาไม่แพง เมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยค่าเล่าเรียนระดับปริญญาตรี ตลอดหลักสูตร 4 ปี อยู่ที่ 5.5 แสนบาท ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละหลักสูตรด้วย

“ที่สำคัญ ม.กรุงเทพมีชื่อเสียงเรื่องการเรียนการสอนเกี่ยวกับสื่อดิจิทัล หรือนิเทศศาสตร์ ซึ่งเข้ากับยุคปัจจุบันที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันคนมากขึ้น ตรงนี้อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาเลือกเรียนที่นี่ ผ่านมาเรามีศิษย์เก่าจากกลุ่ม CLMV ที่จบออกไปมีชื่อเสียงมากมาย ซึ่งคนเหล่านี้กลายเป็นกระบอกเสียงที่ช่วยแนะแนวน้อง ๆ ในประเทศของเขา และ ม.กรุงเทพเองมีการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย รวมถึงการจัดงาน Education Fair ตรงนี้ทำให้ดิฉันมั่นใจว่า นักศึกษา CLMV น่าจะรู้จักมหาวิทยาลัยไทยหลายแห่ง และน่าจะมาเรียนในประเทศไทยมากขึ้นด้วย”

ผศ.ดร.ลักคณากล่าวอีกว่า ยิ่งตอนนี้บางประเทศจากกลุ่ม CLMV เศรษฐกิจเริ่มเติบโตขึ้น มีต่างชาติเข้าไปลงทุนมากมาย พวกเขายิ่งให้ความสำคัญกับการศึกษา ดังนั้น มหาวิทยาลัยไทยจึงเป็นตัวเลือกที่ดี และคุ้มค่าที่จะลงทุนจ่าย เพราะผู้ปกครองนักศึกษาบางรายที่มีทุนทรัพย์ ถึงขั้นขับรถข้ามด่านระหว่างประเทศ เพื่อพาบุตรหลานของตัวเองมาสมัครเรียน พร้อมกับซื้อคอนโดฯให้อยู่อาศัยก็มี

“ปัจจุบันเรามีการรีครูตเด็กเข้ามาทุกปี ตั้งเป้าไว้เท่าไหร่ก็ได้เท่านั้น แต่ต้องคัดเลือกเด็กด้วยว่าเข้ามาแล้วจะอยู่ได้หรือไม่ สำหรับเวียดนามอาจจะยากหน่อย เพราะการศึกษาเขาดี เรามีการตั้งสำนักงานเพื่อรีครูตเด็กที่เวียดนามด้วย ซึ่งดิฉันอยากให้ไทยเราเปิดโอกาสให้เด็กต่างชาติ เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วยได้ในบางอาชีพที่ขาดแคลนคนจริง ๆ หรือว่าที่เด็กไทยไม่สามารถทำได้ เช่น แปลคลิปเป็นภาษาเมียนมา แปลซีรีส์ไปตีตลาดประเทศต่าง ๆ ซึ่งอาจจะช่วยให้ภาคธุรกิจไทยเข้าถึงตลาดประเทศนั้น ๆ มากขึ้น”

นศ.เมียนมาเรียนไทยมากสุด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (วันที่ 21 มี.ค. 2567) พบว่าจำนวนนักศึกษาต่างชาติ (อาเซียน) ปีการศึกษา 2566 ภาคการศึกษาที่ 1 ปรากฏว่านักศึกษาเมียนมาเข้ามาเรียนในประเทศไทยมากที่สุด โดยรวมทุกระดับปริญญาทั้งสิ้น 7,036 คน แบ่งออกเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐจำนวน 3,030 คน สถาบันอุดมศึกษาเอกชน 4,006 คน

ขณะที่นักศึกษาจากประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนรวมทุกระดับปริญญา ปรากฏว่านักศึกษาจากกัมพูชามีจำนวน 1,499 คน, ส่วนนักศึกษา สปป.ลาว 643 คน, นักศึกษาเวียดนาม 618 คน, นักศึกษาฟิลิปปินส์ 568 คน, นักศึกษาอินโดนีเซีย 546 คน, นักศึกษามาเลเซีย 210 คน, นักศึกษาสิงคโปร์ 60 คน และนักศึกษาบรูไน 8 คน ตามลำดับ