อว.ขับเคลื่อน “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย” ส่งมหา’ลัยทั่วไทยเป็นพี่เลี้ยง

กระทรวง อว. ขับเคลื่อนโครงการ “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย” หนุนนโยบายการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติด้านอาหาร ดีเดย์ มิ.ย.นี้ ส่งมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเป็นพี่เลี้ยง เทรนนิ่งให้ผู้ประกอบการอาหารไทยทั้งทาง online และ on site ตั้งเป้าผลิตเชฟมืออาชีพกว่า 75,000 คนภายในปี 2570

วันที่ 14 เมษายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า โครงการ “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย” ภายใต้นโยบายการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติด้านอาหาร ขณะนี้ กระทรวง อว.กำลังเดินหน้าอย่างเต็มที่ โดยในเดือนมิถุนายน 2567 นี้ จะส่งมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไปเป็นพี่เลี้ยงและฝึกอบรมการเป็นเชฟอาหารไทยให้กับผู้ประกอบการด้านอาหาร เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายซอฟท์พาวเวอร์ของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม

โดยมุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในซอฟท์พาวเวอร์ที่มีพลังและจะเป็นฟันเฟืองใหม่ที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยกระทรวง อว. จะฝึกอบรบให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านทาง online และ on site ระยะแรกจำนวน 10,000 คน ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตเชฟอาหารไทยมืออาชีพ ระหว่างปี 2567 – 2570 ได้กว่า 75,086 คน และคาดว่าร้อยละ 50 ของผู้ที่เข้าร่วมอบรมจะมีงานทำ และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้

นางสาวศุภมาสกล่าวต่อว่า กระทรวง อว. มีบทบาทสำคัญในการพัฒนายกระดับและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ผ่านการสนับสนุนการนำองค์ความรู้ด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาพัฒนาท้องถิ่นและอัตลักษณ์ทางท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงอาหารท้องถิ่นด้วย โดยนำเอาศักยภาพของแต่ละพื้นที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนามายกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจ และศักยภาพการผลิต ผู้ประกอบการในพื้นที่จะได้นำความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม นำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

“ตัวอย่างหนึ่งของกระทรวง อว. ที่สำคัญและเห็นเป็นรูปธรรม คือการผลักดัน จ.ภูเก็ต และ จ.เพชรบุรีให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก รวมทั้งสนับสนุนงานวิจัยของชุมชนที่สร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัด นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในประเทศ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทที่สำคัญในเศรษฐกิจ เปรียบเสมือนแม่เหล็กในการดึงดูดชาวต่างชาติ ทำให้รายได้เข้าสู่ประเทศ รวมถึงเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวดนตรี กีฬา เทศกาล และภาพยนตร์อีกด้วย”