อนุฯปฏิรูปชงเงินเดือน ‘ปวช.-ปวส.’ เพิ่ม 7% หวังจูงใจเรียนอาชีวะพุ่ง

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดภายหลังการประชุม กอปศ.ว่า กอปศ.เห็นความสำคัญของเรื่องอาชีวศึกษา จึงตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านอาชีวศึกษาเพื่อพิจารณาเรื่องหลักๆ ดังนี้ 1.การพัฒนาของประเทศในอนาคต ต้องมีกำลังคนที่มีความรู้ในด้านปฏิบัติเพื่อรองรับความก้าวหน้าในการใช้เทคโนโลยี และ 2.ความเลื่อมล้ำที่มีอยู่ในประเทศ คือผู้ที่จบการศึกษาภาคบังคับยังเป็นแรงงานไร้ฝีมือ จำเป็นต้องให้คนเหล่านี้พัฒนาฝีมือด้วยการเข้าสู่อาชีวศึกษา และในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ที่กำลังยกร่าง จะมีมาตราเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องอาชีวะโดยตรง และจะลดข้อบังคับเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการจัดการเรื่องอาชีวศึกษา และจำเป็นต้องมีมาตราเชิงรุกในการปฏิบัติพัฒนาอาชีวะ ซึ่งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านอาชีวศึกษาจะปรึกษาหารือกันต่อไป

นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านอาชีวศึกษา กล่าวว่า เป้าหมายของการปฏิรูปอาชีวะมีอยู่ 3 เป้าหมาย คือ 1.เพิ่มจำนวนผู้เรียนในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน และประเทศ และผู้จบอาชีวะต้องมีงานทำเพิ่มมากขึ้น 2.จะทำให้ผู้เรียนอาชีวะเก่งในด้านปฏิบัติ และ 3.ผู้เรียนอาชีวะ มีความสามารถที่จะเป็นผู้ประกอบการในอนาคต และอยากจะเพิ่มสัดส่วนของผู้เรียนอาชีวะให้สอดคล้องกับประเทศที่จะมุ่งไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 และสอดคล้องกับอีอีซี

นายอนุสรณ์กล่าวอีกว่า เป้าหมายของการเพิ่มจำนวนผู้เรียนอาชีวะ ทางคณะอนุกรรมการฯ มีข้อเสนอดังนี้ 1.ให้เพิ่มแรงจูงใจ คือเพิ่มค่าตอบแทนสำหรับผู้จบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จะได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลในอัตราที่สูงขึ้นประมาณ 7% โดยการปรับขั้นเงินเดือนจะต้องเป็นสาขาที่ขาดแคลน และต้องผ่านระบบทวิภาคีซึ่งว่ามีศักยภาพในด้านปฏิบัติ โดยเสนอให้ ปวช.จากเดิมรายได้เฉลี่ย 11,400 บาท เพิ่มเป็น 12,000 บาท ระดับ ปวส.เดิมรายได้เฉลี่ย 13,280 บาท เพิ่มเป็น 14,400 บาท 2.เสนอให้มีทุนเรียนฟรี ประมาณ 20% ของผู้เรียนอาชีวะทั้งหมด โดยเป็นทุนที่เรียนในสาขาที่ขาดแคลน และเพิ่มทุนในเขตพื้นที่พิเศษอย่างอีอีซี และ 3.ในส่วนของเด็กที่ไม่ได้เรียนฟรีจะจูงใจให้มาเรียนอาชีวะอย่างไร คณะอนุกรรมการฯ มีข้อเสนอให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพิ่มระดับของวงเงินในการกู้ยืมให้เหมาะสมในการเรียน และอัตราดอกเบี้ยในระยะแรกให้ปลอดดอกเบี้ย หรือลดดอกเบี้ยให้ต่ำมาก เช่น 0.01% เพื่อเป็นแรงจูงใจในการเข้ามาเรียน

“อีกเรื่องคือกองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา คิดว่ามีการให้เงินสำหรับเด็กด้อยโอกาส หรือเด็กที่มีปัญหาในเรื่องความยากจนเข้ามาเรียนอาชีวะประมาณ 5,000 คน” นายอนุสรณ์ กล่าว

นายอนุสรณ์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ เน้นประเด็นการปฏิรูปอาชีวะ ขั้นต่อไปจะจัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ ครู วิทยาลัยอาชีวะ ในประเด็นดังนี้ 1.เรียนฟรีในสาขาขาดแคลน และพื้นที่พิเศษ 2.เรียนทวิภาคีทุกคน 3.ครูอาชีวะไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูดีหรือไม่ 4.ให้วิทยาลัยอาชีวะเอกชนรับเงินอุดหนุนเท่ากับวิทยาลัยอาชีวะของรัฐ 5.ให้กรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชนด้านอาชีวะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านอาชีวะ 6.เสนอให้สถานประกอบ หรือโรงงานมาอยู่ในวิทยาลัยอาชีวะ และ 7.ทำอย่างไรให้ผู้เรียนได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น 7%

“ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ ย่อมมีผลกระทบแน่ แต่สิ่งที่จะได้รับมา จะเป็นผลประโยชน์ของประเทศ คาดว่าจะจัดรับฟังความคิดเห็นภายในเดือนมิถุนายน และจะนำเสนอ กอปศ.ใหม่ และในวันที่ 16 พฤษภาคม กอปศ.จะเชิญนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มารับฟังความคิดเห็น และนำเสนอ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ต่อไป” นายอนุสรณ์ กล่าว

 

ที่มา:มติชนออนไลน์