บิ๊กอาชีวะเอกชน “เหนือ-ใต้” ซัด สอศ. 3 ปี ยังใช้กฎหมายสช.-ไร้เครื่องแบบ

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน นางจิตสถา ศิริณภัค อุปนายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย กลุ่มภาคใต้ เปิดเผยกรณีนายอดิศร สินประสงค์ นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.) ระบุว่าวิทยาลัยอาชีวะเอกชน 280 แห่งประชุมวิสามัญและมีมติว่าให้เวลารัฐบาลอีก 3 เดือน เพื่อพัฒนาอาชีวะเอกชนให้ดีขึ้น ไม่เช่นนั้นจะรวมตัวกันขอพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความจริง เพราะหลังจากที่อาชีวะเอกชน ย้ายมาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) พบปัญหาติดขัดด้านกฎหมาย โดยปัจจุบันอาชีวะเอกชนยังอยู่ภายใต้กฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ทำให้การจัดการ การดำเนินงานยังติดกฎระเบียบ

“ย้ายมาอยู่กับสอศ. 3 ปีแล้ว แรกเริ่ม สอศ.รับปากว่าจะแก้ไขปัญหาให้ เช่น ระเบียบกฎหมาย ออกกฎหมายมารองรับเพื่อให้อาชีวะเอกชนดำเนินงานได้สะดวกมากขึ้น แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการแก้ไขใดๆ เงินเดือนครูอาชีวะเอกชนยังไม่ได้ขึ้น ต่างกับครูรัฐ และครูสังกัด สช.ที่ได้ขึ้นเงินเดือน ดังนั้นอยากให้ สอศ. และรัฐมนตรีว่าการศธ.ช่วยแก้ไขอย่างเร่งด่วน” นางจิตสถา กล่าว และว่า ครูอาชีวะเอกชนบางรายลาออกเพื่อไปสอบบรรจุเป็นครูรัฐ หรือทำงานอื่นแทน ตนมองว่า สอศ.ยังไม่สนับสนุนอาชีวะเอกชนเต็มร้อย สอศ.เข้าใจอาชีวะมาก นโยบายต่างๆ ก็ทำออกมาดี แต่ภาคปฏิบัติยังไม่มีความรู้พอ และบางพื้นที่ภาครัฐและเอกชนยังไม่เข้าใจกัน ทำให้ล่าช้า ติดขัด

ด้าน นายเปรมปรีดิ์ หมู่วิเศษ อุปนายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย กลุ่มภาคเหนือ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติดังกล่าวจริง ซึ่งในการประชุม มี 2 แนวทางเลือก คือ 1.อยู่กับ สอศ. โดยให้เวลา 3 เดือน และ2. ย้ายกลับไปอยู่กับสช. เช่นเดิม ซึ่งที่ประชุมมีมติให้เวลาสอศ.อีก 3 เดือน หากไม่ได้รับการแก้ไข จะรวมตัวร้องเรียนรัฐมนตรีว่าการ ศธ.และนายกรัฐมนตรีต่อไป เพื่อขอให้ช่วยแก้ไขปัญหา
นายเปรมปรีดิ์ กล่าวต่อว่า หลังสังกัด สอศ. พบความล่าช้าในการบริหารที่ยังต้องใช้กฎหมายของสช.อยู่ ซึ่งผ่านมา 3 ปีแล้ว สอศ.ยังไม่แก้ไข เครื่องแบบครูอาชีวะเอกชนที่สอศ.รับปากว่าจะดำเนินการให้ ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ส่วนข้อดี คืองานวิชาการ โดยสอศ.พัฒนางานด้านวิชาการ และให้อาชีวะเอกชนเปิดสอนทวิภาคีได้

“ช่วงที่อยู่กับ สช. มีความคล่องตัว เพราะสช.มอบอำนาจให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เป็นผู้ดูแล แต่เมื่อมาอยู่กับ สอศ. การดำเนินงานต่างๆ ล่าช้าเพราะต้องขออนุมัติจากส่วนกลาง แม้จะมีหน่วยงานประจำจังหวัด แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้เป็นราชการ เป็นเพียงพนักงานอัตราจ้างชั่วคราว อยากให้ สอศ.ช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน การจัดสรรงบอุดหนุน การจัดการเอกสารให้ดีขึ้น นอกจากนี้ พบว่าวัฒนธรรมองค์กรต่างกันทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน จึงอยากให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.และสอศ.ช่วยแก้ไขด้วย” นายเปรมปรีดิ์ กล่าว

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์