
มหาวิทยาลัยในไทยกลายเป็น “ตัวเลือก” สำคัญในการเข้ามาเรียนของนักศึกษาจีน ไม่แพ้ประเทศเกาหลีใต้ ทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าภายใน 2-3 ปีนับจากนี้ ตัวเลขจำนวนนักศึกษาจีนในไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 คน ในทางตรงข้าม สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ กลับกำลังเผชิญกับปัญหานักศึกษาลดลงอย่างต่อเนื่อง จากอัตราการเกิดที่ลดลง ผลเช่นนี้จึงทำให้สถาบันต่าง ๆ ต่างกระโดดเข้ามาชิงเค้กแย่งนักศึกษาจีนเข้ามาทดแทน
“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ดร.กัญจน์นิตา สุเชาว์อินทร์” คณบดีวิทยาลัยนานาชาติจีน รองผู้อำนวยการสถาบันจีนไทย มหาวิทยาลัยรังสิต ถึงตลาดการศึกษาในปัจจุบัน และโอกาสของ ม.รังสิต นับต่อจากนี้
- กรมอุตุฯ เปิดชื่อพายุลูกใหม่ โซนร้อน “โคอินุ” (KOINU) พายุลูกที่ 14
- น่าสลดเงินหมดแล้ว ยังไม่ตาย จัดการอย่างไร เงินเก็บหลังเกษียณหมดก่อน
- กรมอุตุฯ จับตาพายุหมุนเขตร้อน มีหย่อมความกดอากาศก่อตัวใหม่อีก 1 ลูก
“เราเริ่มต้นวางหลักสูตรไทย-จีนมาตั้งแต่ปี 2555 และรับนักศึกษาต่างชาติจากจีนเท่านั้น ในช่วงเริ่มต้นที่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอต้องอาศัยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในจีนให้เข้ามาช่วยสอนก่อน หลังจากนั้นจึงปรับลุกใหม่ (rebranding) จากเดิมที่เป็น Chiness Business School ที่เริ่มต้นหลักสูตรด้วยคณะบริหารธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้คณะวิทยาลัยนานาชาติจีน ด้วยการปรับใหม่เป็น International Chiness College หรือวิทยาลัยนานาชาติจีนไทย เป็นแห่งแรกที่เป็น Chiness Program”
“ดังนั้น การรับสมัครนักศึกษาจะเป็นใครก็ได้ แต่ต้องมีความสามารถด้านภาษาจีน ในกรณีที่นักศึกษาไทยสมัครเข้าเรียนก็ทำได้ แต่ต้องใช้ภาษาจีนได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เราทดลองทำมาก่อน เนื่องจาก ม.รังสิตทำการสำรวจนักศึกษาไทยที่เรียนภาษาจีน แต่พบว่าพวกเขาไม่มีความพร้อมมากพอที่จะเรียนในหลักสูตรนี้ได้ ในช่วงเริ่มต้นหลักสูตรจึงได้ขออาสาสมัครไปที่มหาวิทยาลัยจีน เพื่อมาช่วยฝึกนักศึกษาของ ม.รังสิต ในช่วงเริ่มต้นที่ 5-10 คน และคาดว่าจะมีจำนวนมากขึ้น”
และเพื่อให้วิทยาลัยนานาชาติจีนของ ม.รังสิต เป็นที่รู้จักมากขึ้นในแวดวงการศึกษา เร็ว ๆ นี้จะเตรียมเปิดตัวแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ใหม่ คือ “เต็งหนึ่ง” คณิต ปิยะปภากุล อดีตสมาชิกบอยแบนด์วงบีโอวาย (B.O.Y) ที่กำลังจะเข้ามาเรียนหลักสูตรบริหารธุรกิจ หรือ MBA (Master of Business Administration) ของ ม.รังสิต สาเหตุที่เลือกเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ เนื่องจากเขาเป็นนักแสดงไทยที่ได้รับความนิยมในจีนเป็นอย่างมาก ซึ่งจะทำให้วิทยาลัยนานาชาติจีน-ไทย เป็นที่รู้จักมากขึ้น
“ดร.กัญจน์นิตา” กล่าวต่อว่า หลักสูตรของ ม.รังสิต เรียกได้ว่าเป็นไชนีสอินเตอร์จริง ๆ และมีความแตกต่างจากสถาบันอื่นอย่างสิ้นเชิง เพราะหลักสูตรอื่น ๆ ส่วนใหญ่นำเอกภาษาจีนเข้ามาควบรวมกับสาขาอื่น ๆ อย่างเช่นสาขาธุรกิจ แต่กลับเน้นไปที่การเรียนรู้ภาษาจีนโดยหลักสูตรของ ม.รังสิต เป็นหลักสูตรปริญญาตรีบริหารธุรกิจ ในขณะที่สถาบันอื่นเป็นหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
“อธิบายง่าย ๆ คือของเราเป็นสายวิชาชีพ เรียนจบออกไปสามารถหางานง่าย และนอกจากนี้ยังจับในเรื่องของสาขาการออกแบบ เพราะเด็กจีนนอกจากจะได้เรียนบริหารธุรกิจ ขณะเดียวกันยังมีความรู้เรื่องการออกแบบด้วย เพราะได้ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ที่สำคัญเขาต้องสมาร์ท อย่างน้องเต็งหนึ่ง เราเอามาปั้นให้เก่ง และเต็งหนึ่ง ก็ตั้งใจที่จะเข้ามาเรียนในหลักสูตรของเราอยู่แล้ว”
เมื่อถามถึงการรับนักศึกษาจากต่างชาติเพิ่มขึ้นนั้น “ดร.กัญจน์นิตา” บอกว่า จากจำนวนนักศึกษาไทยที่ลดลงอย่างมาก ทำให้มีความจำเป็นต้องรับนักศึกษาต่างชาติเข้ามามากขึ้น ปัจจุบัน ม.รังสิต มีจำนวนนักศึกษารวมกันทั้งสิ้น 4,000 คน ถือว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา และจะมีจำนวนนักศึกษาที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 5,000-6,000 คน จากจำนวนนักศึกษาดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าจำนวนยอดนักศึกษาไม่ตก และคาดว่าปีการศึกษาใหม่นี้จะไม่ลดลงอย่างแน่นอน โดยเฉพาะนักศึกษาจีนยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
จากแนวโน้มดังกล่าว ทำให้ ม.รังสิต มีนโยบายชัดเจนว่า เพื่อการขยายตัวทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ จึงกำหนดวิธีการรับนักศึกษาจาก 2 ส่วน คือ 1) เน้นไปที่นักศึกษาแลกเปลี่ยน และเป็นหัวกะทิระดับมณฑลของจีน และ 2) นักศึกษาที่เรียนหลักสูตร 4 ชั้นปี เพื่อให้ได้ใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น ๆ อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ม.รังสิตไม่ได้จำกัดหลักสูตรจีนไว้ที่สาขาบริหารธุรกิจเท่านั้น “ดร.กัญจน์นิตา” ฉายภาพอนาคตว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสร้าง “ทีมใหม่” เพราะมีความร่วมมือกับมหาวิทยาเหอเป่ย์ในการเปิด 2 หลักสูตรใหม่ คือ 1) หลักสูตรไบโอชีวภาพ (ดับเบิลดีกรี) และ 2) หลักสูตรวิศวกรรมการแพทย์ โดยมีโควตาอยู่ที่ 40-50 คน สาเหตุที่เลือกไบโอชีวภาพนั้น เนื่องจากปัจจุบันจีนมีความโดดเด่นในด้านนี้ ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศด้วย เพราะจีนเป็นประเทศที่ติดอันดับในเรื่องการปล่อยมลพิษ จึงต้องหันมาทำโปรเจ็กต์ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงยังเพิ่มการผลิตพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเพิ่มขึ้นอีกด้วย
“เรามองว่าเป็นการเบ่งบานทางวิชาการที่อยากเห็น เพราะประเทศจะได้รับประโยชน์อย่างมาก ทุกคน win-winทั้งไทยและจีน นอกจากนี้ยังอาจจะมีความร่วมมือในเรื่องที่จีนมีความเชี่ยวชาญ เช่น การโยธา ซึ่งจีนมีความเก่งมาก ตอนนี้เรามองว่าจะเรียนรู้อะไรจากจีน แล้วเรามีส่วนที่จะซัพพอร์ตเขาได้หรือไม่ หรือสามารถซัพพอร์ตด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย แม้แต่เรื่องปัญญาประดิษฐ์หรือ AI จีนก็เก่งมาก ซึ่งหากเขาปล่อยให้มีความร่วมมือก็จะส่งนักศึกษาไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเขา”
ในช่วงท้าย “ดร.กัญจน์นิตา” บอกว่า กว่าที่วิทยาลัยนานาชาติจีน และสถาบันจีนไทยจะเป็นรูปเป็นร่างอย่างทุกวันนี้นั้น ส่วนสำคัญมาจาก “ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์” อธิการบดี ม.รังสิต ที่ไม่ต้องการให้ความร่วมมือระหว่างจีนและไทย ถูกตีกรอบอยู่แต่เพียงในแง่ของวัฒนธรรมและภาษาเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงความร่วมมืออื่น ๆ อย่างเช่น ความร่วมมือด้านแพทย์แผนจีน เราจึงก่อตั้งสถาบันจีนไทยขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่เป็นสะพานความร่วมมือของสถาบันการศึกษาไทยและจีน
“ตอนนี้ทั้ง 2 ฝ่ายต่างก้าวข้ามในเรื่องของภาษามาแล้ว จากนี้ ม.รังสิต จะเป็นสถาบันที่มีบุคลากรรองรับความร่วมมือด้านการศึกษามากขึ้น และนักศึกษาที่เรียนจบจากไทยจะได้รับความเชื่อถือในระดับสากล ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ไทยอาจกลายเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา (hub) ของเอเชียไปแล้วก็ได้”