BTU รับเทรนด์วัยทำงาน เปิดสาขาแพทย์แข่งมหา’ลัยดัง

ผศ.วิทยา เบ็ญจาธิกุล

การแข่งขันในธุรกิจการศึกษายังคงดุเดือด เนื่องจากจำนวนนักศึกษาในระบบลดลงอย่างมาก จากอัตราการเกิดใหม่ของประชากรที่ลดลง ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มหาวิทยาลัยต่างต้องกำหนดกลยุทธ์ในการดึงนักศึกษาให้เข้ามาเรียนมากขึ้น ในรายที่มีจุดแข็ง และสถานะการเงินที่มีสภาพคล่องทางการเงินยังคงเดินหน้าในธุรกิจนี้ต่อไปได้ อย่างเช่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี (BTU) ที่เตรียมเปิดตลาดการศึกษาในกลุ่มเป้าหมายใหม่มากขึ้น

“ผศ.วิทยา เบ็ญจาธิกุล” รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนเปิดหลักสูตรใหม่ว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างเตรียมเปิดหลักสูตร “แพทยศาสตร์” เพื่อให้หลักสูตรด้านที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล “ครบวงจร” มากขึ้น จากเดิมที่มีการเปิดสาขาทันตแพทย์ พยาบาล และผู้ช่วยพยาบาล ที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จ และเป็นที่ต้องการของสถานพยาบาลในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับเหตุผลที่ทำให้เปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์ คือ จำนวนแพทย์ในระบบยังคง “ขาดแคลน” รวมถึงมีข้อจำกัดด้านหลักเกณฑ์จากแพทยสภา ที่กำหนดให้แต่ละมหาวิทยาลัยสามารถผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบได้ไม่เกิน 30 คน/ปีเท่านั้น เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลชีวิต ฉะนั้น จึงต้องมีหลักสูตรเข้มข้น และมีคุณภาพ โดยต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทั้งแพทยสภา และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อีกด้วย ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีได้ดำเนินการพัฒนารายละเอียดของหลักสูตรตามเงื่อนไขของภาครัฐเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงปรับเงื่อนไขตามความเห็นของแพทยสภาเท่านั้น และได้มีการซื้อเครื่องมือการเรียนการสอนไว้เรียบร้อยแล้ว ด้วยการใช้งบประมาณมากกว่า 100 ล้านบาท เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

“การระบุจำนวนจำกัดนักศึกษาแพทย์แต่ละปี ทำให้เรามองเป็นโอกาสของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เพราะมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ต้องถูกจำกัดเช่นกัน รวมถึงมีจำนวนของสถานศึกษาทางด้านการแพทย์ไม่มากด้วย ฉะนั้น เราจึงต้องการรองรับนักศึกษาที่พลาดจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดัง และต้องการให้มีนักศึกษาได้เรียนจบจากเรา 1 รุ่น เพื่อให้เห็นว่าหลักสูตรดังกล่าวตอบโจทย์ผู้สนใจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เรียนและสังคมได้”

นอกเหนือจากหลักสูตรที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการแล้ว “ผศ.วิทยา” ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า มหาวิทยาลัยมีความร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นสถานพยาบาลเพื่อรองรับนักศึกษาแพทย์ได้ใช้เป็นสถานที่ฝึกงานในอนาคต หรืออาจจะเรียกว่า “พี่เลี้ยง” แพทย์ เช่น โรงพยาบาลวชิระ, โรงพยาบาลราชพิพัฒน์, สำนักการแพทย์ กทม. ที่มีเป้าหมายที่จะขยายโรงพยาบาลเพิ่มเติมอีกในเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้ยังเตรียมหลักสูตรที่มีความเป็นไปได้อีก คือ สาขาทันตแพทย์ และสาขาเภสัชศาสตร์ อีกด้วย

ที่สำคัญ ยังเตรียมขยายกลุ่มเป้าหมายที่นอกเหนือจากนักศึกษาในระดับปริญญาตรีไปจนถึงปริญญาเอก คือ กลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาทรัพยากรบุคคลภายในองค์กร และเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเปิดเป็นหลักสูตรระยะสั้น 3-6 เดือน เมื่อเรียนจบจะได้ประกาศนียบัตรด้วย สำหรับหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ สาขาผู้ช่วยพยาบาล ในขณะนี้ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นต้องการผู้ช่วยพยาบาลอย่างมาก และได้ค่าตอบแทนที่ดีประมาณ 50,000 บาท/เดือน มีที่พักให้อยู่ฟรีอีกด้วย

ส่วนหลักสูตรที่จะเปิดใหม่ คือ หลักสูตรทันตแพทย์ และสาขาเภสัชศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยต้องการผลิตบัณฑิตที่เกี่ยวข้องในด้านการรักษาพยาบาลได้ครบวงจรมากขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญจาก “ผศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล” อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ที่ไม่เพียงต้องการพัฒนาการเรียนการสอน แต่ยังช่วยพัฒนาการแพทย์ในพื้นที่ใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยอีกด้วย

“การเรียนในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ เพราะการแข่งขันรุนแรงมาก ทำให้แต่ละมหาวิทยาลัยต่างต้องหารูปแบบที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ขณะเดียวกันยังขยายฐานลูกค้าจากเดิมที่มีแค่การเรียนในคลาสปกติ แต่จากนี้มหาวิทยาลัยจะกลายเป็นเทรนเนอร์ให้กับผู้สนใจที่เป็นผู้ประกอบการในธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้เป็นเทรนด์ที่มาแรงมาก ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับใบปริญญาน้อยลงมาก และถูกแทนที่ด้วยใบประกาศนียบัตรที่รับรองว่าสามารถทำงานได้ และใช้เทคโนโลยีใหม่เป็นเท่านั้น” ผศ.วิทยากล่าวในตอนท้าย

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีเปิดการเรียนการสอนที่มีความหลากหลาย ประกอบด้วย คณะนิเทศศาสตร์, คณะรัฐศาสตร์, คณะนิติศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, คณะศิลปศาสตร์, คณะพยาบาลศาสตร์, คณะศิลปกรรมศาสตร์, คณะศึกษาศาสตร์, คณะบัญชี, คณะเทคโนโลยีและนวัตกรรม, คณะสาธารณสุขศาสตร์, คณะดุริยางคศาสตร์, คณะบริหารธุรกิจ, คณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา และคณะทันตแพทยศาสตร์ นอกจากนี้ยังเตรียมขยายหลักสูตรออนไลน์ เพื่อให้คนไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศมีโอกาสเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตในระดับปริญญาตรีอีกด้วย