เรียนออนไลน์-สอนปกติ “สพฐ.” เปิด 3รูปแบบ โรงเรียนเลือกได้

ทันทีที่ได้เริ่ม “ทดลอง” การเรียนการสอน ในรูปแบบออนไลน์ ทดแทนการเข้าเรียนในชั้นเรียนปกติ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้พบปัญหาสารพัด ทั้งนักเรียนไม่มีอุปกรณ์การเรียนการสอน ไปจนถึงระบบการสื่อสารทางไกลที่ยังไม่มีความเสถียร “นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงแก้ไขสถานการณ์ก่อนที่จะเปิดเทอมในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ชี้แจงครูทั่วประเทศถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับกรณีที่จะต้องเรียนผ่านออนไลน์ไปเมื่อเร็ว ๆนี้ โด “นายสนิท แย้มเกสร” รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุว่า ทางสพฐ.ได้กำหนดรูปแบบการเรียนการสอนสำหรับปีการศึกษาใหม่ 2563 นี้ว่า กพฐ.ได้กำหนด 3 แนวทางที่แต่ละโรงเรียนสามารถเลือกดำเนินการได้ คือ

  1. เปิดทำการสอนได้ตามปกติ แต่จะต้องดำเนินการขออนุญาตศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโนนา 2019 หรือ ศบค. จังหวัดเป็นผู้เห็นชอบ
  2. เรียนทางไกลเต็มรูปแบบ
  3. เรียนแบบผสมผสาน

นอกจากนี้โรงรียนแต่ละแห่ง สามารถออกแบบการเรียนการสอนตามความพร้อมที่มีอยู่ ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ แต่เน้นตรงที่ “ส่วนกลางทำหน้าที่สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนเท่านั้น” และยังต้องมีการประเมินผลระดับชาติตามปกติ

โดยเป้าหมายของกี่เรียนผ่านทางไกลของสพฐ.นั้น “ต้องการให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามหลักสูตร” สำหรับการดำเนินงานการเรียนผ่านการศึกษาทางไกล (DLTV) สำหรับนักเรียนที่เรียนที่บ้านแต่ละโรงเรียนจะต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองถึงรูปแบบดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ สพฐ. ยังระบุอีกว่าในระบบประถมศึกษาจะมีการสอนเพียง 5 กลุ่มสาระที่ประกอบด้วย ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และบูรณาการ

ด้าน “นายกวินเกียรติ นนท์พละ” รองเลขาธิการฯ ได้ให้รายละเอียดเชิงระบบว่า กระทรวงศึกษาต้องการให้มองว่าการเรียนการสอนทางไกลเป็นโอกาสการทดลอง วิธีการจัดการสอนแบบใหม่ เพื่อนำไปสู่กรเปลี่ยนระเบียบทางวิชาการ เพราะในอนาคตการศึกษาไทยจะเลี่ยงการเรียนออนไลน์ไม่ได้แน่นอน ฉะนั้นถือว่าครั้งนี้คือการทดลองที่ดี เพราะ “โรงเรียนหยุดได้ แต่การเรียนรู้ หยุดไม่ได้”

สำหรับจุดประสงค์ของการใช้รูปแบบการเรียนออนไลน์นั้น เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้และพัฒนาความรู้ ความสามารถตามหลักสูตรในช่วงปิดการเรียนการสอนภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ว่า “โรงเรียนหยุดได้ แต่การเรียนรู้ หยุดไม่ได้”

โดยสพฐ.ได้ใช้ “วิธีการ” จัดให้มีการเรียนการสอนตามหลักสูตรด้วยสื่อและช่องทางการสื่อสารที่มีอยู่ และสามารถส่งถึง ผู้เรียนใน 3 กลุ่มคือ

1) ON-SITE การเรียนในโรงเรียนพื้นที่ปลอดภัย ภายใต้เงื่อนไขของ สบค. จังหวัด

2) ON-AIR เรียนที่บ้าน ซึ่งแบ่งออกเป็นระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที 3 ใช้สื่อของ DLTV และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-มัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้สื่อของ สพฐ.

3) ON-LINE ด้วยการเรียนผ่านอินเตอร์เนทและแอพลิเคชั่น แบ่งเป็น ผ่าน DLTV www.dltv.ac.th ในระดับชั้นอนุบาล-ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ DEEP – www.deep.go.th ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-มัธยมศึกษาปีที่ 6

พร้อมกันนี้ยังได้กำหนดบทบาทของโรงเรียนไว้ด้วยคือ จะต้องมีการสำรวจการเข้าถึงสื่อการสอนของนักเรียนและผู้ปกครองด้วยอุปกรณ์และคลื่นสัญญาณ จัดทำแบบสำรวจความต้องการ กล่องทีวี ดิจิตอลเพื่อใช้จัดการศึกษาผ่านทางไกล และให้จัดกลุ่มความพร้อมของนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีความพร้อม 100% กลุ่มที่มีความพร้อมปานกลาง 50% และกลุ่มที่มีความพร้อมหรือไม่มีความพร้อม

โดยเฉพาะสำหรับนักเรียนที่ไม่มีความพร้อม ให้จัดระบบดูแลช่วยเหลือ อีกทั้งต้องสำรวจความพร้อมด้านเวลาของผู้ปกครอง รวมถึงจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ปกครองด้วย ทั้งนี้คาดว่าระบบจะมีความพร้อมมากขึ้นภายหลังจากที่ได้เริ่มทดลองและสามารถเปิดการเรียนการสอนได้ทันเปิดเทอมอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้