กองทุนแม่โขง-ล้านช้าง เพิ่มขีดการแข่งขัน-

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย อรมน ทรัพย์ทวีธรรม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง หรือ Mekong-Lancang Cooperation : MLC ในขณะที่ประเทศจีนเรียกว่า LMC พัฒนามาจากข้อริเริ่มของไทยในปี 2555 ในการจัดประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง และได้รับการสนับสนุนจากจีนในการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 17 เดือนพฤศจิกายน 2557 โดยกรอบความร่วมมือดังกล่าวจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2558 มีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน

กรอบความร่วมมือนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับภูมิภาคอื่น ๆ อีกทั้งเพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับประชาคมอาเซียน

ในการประชุมผู้นำ MLC ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคม 2559 ณ เมืองซานย่า สาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้นำจีนประกาศจัดตั้งกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง (MLC Specia Fund) โดยจีนสนับสนุนเงิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเวลา 5 ปี เพื่อดำเนินโครงการต่าง ๆ ทั้งนี้ จีนออกข้อกำหนดและระเบียบของกองทุน ให้ประเทศสมาชิกเสนอโครงการที่มีมูลค่าไม่เกิน 500,000 เหรียญสหรัฐต่อโครงการ และเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศผู้เสนอโครงการ จีน และสมาชิก MLC อีก 1 ประเทศ

ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน 4 โครงการ ปลัดกระทรวงพาณิชย์และเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ลงนามความเข้าใจร่วม MOU รับมอบเงิน 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อดำเนินการ 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดน โครงการพัฒนาการอำนวยความสะดวกตามแนวชายแดน โครงการจัดกิจกรรมเวทีภาคธุรกิจแม่โขง-ล้านช้าง และโครงการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเขตชนบท โดยมีรายละเอียดแต่ละโครงการดังต่อไปนี้

โครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดน คือการนำแนวคิดการทำโมเดลเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตการค้าเสรีของจีนที่ประสบความสำเร็จอย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษเซี่ยงไฮ้ มาเป็นต้นแบบ และจัดทำระบบข้อมูลออนไลน์เกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเสนอแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการและส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อช่วยกระตุ้นการค้าและการลงทุนในอนุภูมิภาค และมุ่งส่งเสริมการลงทุนจากประเทศนอกอนุภูมิภาคด้วย นอกจากนี้จะช่วยยกระดับการผลิตในอนุภูมิภาคเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคอีกด้วย

โครงการพัฒนาการอำนวยความสะดวกตามแนวชายแดน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสอดคล้องของระบบการจัดการตามแนวชายแดน อาทิ พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการบริการโลจิสติกส์ช่วยลดต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

โครงการจัดกิจกรรมเวทีภาคธุรกิจแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งจะจัดกิจกรรมต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งมีมากกว่า 99% ของธุรกิจในอนุภูมิภาค สามารถสร้างเครือข่ายเพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยี และเพิ่มความหลากหลายทางธุรกิจได้

โครงการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเขตชนบท คือ การฝึกอบรมในเบื้องต้นและให้นำแผนปฏิบัติการไปปฏิบัติจริงในพื้นที่ของตนเอง อันจะช่วยให้ SMEs ในชนบทเข้าถึงตลาดการค้าในระดับประเทศ และระดับสากลได้ คาดหวังว่าในอนาคตจะมีการสร้างโมเดลธุรกิจ การทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเขตชนบทเพื่อยกระดับความเป็นอยู่อย่างยั่งยืนของชาวชนบทในอนุภูมิภาคด้วย

ในการดำเนินโครงการดังกล่าวกระทรวงพาณิชย์ได้มอบสถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute : MI) ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศร่วมเป็นหน่วยงานดำเนินโครงการทั้ง 4 โครงการ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญการทำโครงการกับประเทศกลุ่ม CLMV มีความพร้อมด้านบุคลากร มีความคล่องตัวในการบริหารงาน จัดการงบประมาณโครงการ โดยกระทรวงพาณิชย์จะกำกับดูแลการดำเนินการของ MI อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์และกรอบเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้ โครงการที่กระทรวงพาณิชย์เสนอภายใต้กองทุน MLC จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง โดยกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักของคณะทำงานสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ซึ่งเป็น 1 ใน 6 คณะทำงานของ MLC มีเป้าหมายจะขยายการค้าให้ถึง 250 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 จากปี 2560 ซึ่งมูลค่าการค้ารวม 220 พันล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 16% จากปี 2559 โดยประเทศไทยมีมูลค่าการค้ารวมกับประเทศ MLC5 ประเทศ 109.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นมูลค่าการค้ากับจีน 73.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการค้ากับ CLMV 35.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ

 

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”