ดอลลาร์แข็งค่า หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรออกมาสูงกว่าคาด

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์แข็งค่าหลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรออกมาสูงกว่าคาด ขณะที่ปัจจัยในประเทศกระทรวงพาณิชย์ปรับประมาณการเงินเฟ้อปีนี้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6% เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมที่ 4.0-5.0% เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/8) ที่ระดับ 35.77/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (5/8) ที่ระดับ 35.57/59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผย ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น 528,000 ตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม โดยเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 258,000 ตำแหน่ง และอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.5% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.6%

โดยนักลงทุนเริ่มให้น้ำหนักมากขึ้นที่เฟดมีโอกาสจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% สำหรับการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในเดือนกันยายนนี้ ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ

นอกจากนี้ นางมิเชล โบว์แมน หนึ่งในคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกมาสนับสนุนให้เฟดพิจารณาขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมครั้งต่อ ๆ ไป เพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงมาอยู่ที่ระดับที่เฟดตั้งเป้าหมายไว้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 107.41 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.16% จากเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบปี ที่เงินเฟ้อลดลงจากเดือนก่อน

โดย สนค.ได้ปรับประมาณการเงินเฟ้อสำหรับปีนี้ อยู่ที่ระดับ 5.5-6.5% ค่าเฉลี่ย 6% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมที่ 4.0-5.0% ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย

โดยการปรับประมาณการเงินเฟ้อใหม่นี้ มาจากสมมุติฐานสำคัญคือ 1.อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้ 2.5-3.5% 2.ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 90-110 ดอลลาร์/บาร์เรล และ 3.อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปี 33.50-35.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.71-35.85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.75/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/8) ที่ระดับ 1.0173/75 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (5/8) ที่ระดับ 1.0226/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์หลังจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐออกมาสูงกว่าคาด หนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0159-1.0214 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0187/91 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/8) ที่ระดับ 135.18/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (5/8) ที่ระดับ 132.97/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยทางการญี่ปุ่นเปิดเผย ญี่ปุ่นขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 1.324 แสนล้านเยน (980 ล้านดอลลาร์) ในเดือน มิ.ย.ปีนี้ จากที่เคยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 8.72 แสนล้านเยน ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเป็นการขาดดุลครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เนื่องจากญี่ปุ่นมียอดนำเข้าที่สูงกว่ายอดส่งออก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันจากปัญหาราคาพลังงานและต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เนื่องจากอุปสงค์ด้านบริการท่องเที่ยว ซึ่งส่งสัญญาณบวกต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในวงกว้าง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 134.91-135.55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 135.15/18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน ก.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ในมุมมองของผู้บริโภคเดือน ส.ค. (เบื้องต้น) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.5/-7.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.7/-3.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ